'การเงินเพื่อความยั่งยืน' ตัวช่วยธุรกิจเอเชียสานฝันลดปริมาณก๊าซคาร์บอน
การเงินเพื่อความยั่งยืนถือเป็นเรื่องใหม่ในเอเชียแปซิฟิก และยังไม่ค่อยมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามายังภูมิภาคมากนัก โดย MUFG สถาบันการเงินระดับโลกให้เหตุผลว่าเป็นเพราะต่างชาติยังไม่รู้ว่าเอเชีย กำลังเผชิญกับปัญหาอะไร
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG สถาบันการเงินในญี่ปุ่น และเป็นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลก จัดงาน Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 สุดยอดการประชุมสัมมนาด้าน ESG โดยผู้ชำนาญการระดับโลก เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง ESG ให้กับลูกค้าธุรกิจและบุคคลทั่วไปที่สนใจ เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-18.00 น. ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
หนึ่งในหัวข้องานภายในงานที่น่าสนใจคือ การเงินเพื่อยั่งยืนในเอเชียแปซิฟิก ที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรระดับโลกอย่าง โทโมฮิโร อิชิคาวะ Chief Regulatory Engagement Officer จาก MUFG Bank และคอลิน เฉิน หัวหน้าฝ่ายการลงทุน ESG แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ MUFG Bank โดยทั้งคู่ได้พูดถึงประเด็นการเงินยั่งยืนซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การเงินเพื่อความยั่งยืนในเอเชียแปซิฟิก
MUFG เป็นธนาคารเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (transition finance bank) มีสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น และดำเนินงานทั่วเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียนที่เล็งเห็นว่าภูมิภาคนี้ไม่ได้เพียงแค่ต้องการการเงินสีเขียว แต่ยังต้องการ การเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว MUFG ได้เข้าร่วมกลุ่ม Net Zero Banking Alliance (NZBA) พร้อมให้คำมั่นสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
บทบาทของ MUFG คือการพยายามสนับสนุนเศรษฐกิจโดยรวมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็ก หากคุณมีแผนที่น่าเชื่อถือและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เรายินดีที่จะสนับสนุนให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมกับช่วยให้บริษัททำกำไร เพื่อเติบโตไปพร้อมกัน
ดังนั้นการพยายามทำให้บริษัทก้าวไปอย่างสมดุลทั้งสองด้านจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เราพยายามเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอด้านพลังงาน แต่เศรษฐกิจในเอเชียเติบโต 3-5% ทุกปี ความต้องการสินค้าบริการต่าง ๆ ในเอเชียกำลังเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันเรากำลังพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง โดยอิชิคาวะระบุว่า วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ การมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน คิดแผนและกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านและกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านที่น่าเชื่อถือ
อิชิคาวะกล่าวเสริมว่าทั้งหมดนี้ธนาคารต้องทำความเข้าใจและรับรู้ว่าลูกค้ากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร และจะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร หากคุณไม่มีส่วนร่วม คุณจะไม่ได้ยินเสียงลูกค้า ธนาคารต้องคำนึงว่าอยู่บนห่วงโซ่คุณค่าเดียวกันกับพวกเขา ถ้าลูกค้าลดคาร์บอนไม่ได้ ก็เท่ากับว่าเราลดคาร์บนไม่ได้ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายเราอาจต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลลูกค้าด้วย เพราะไม่ใช่แค่ธนาคารหรือภาคการเงินเท่านั้นที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ ทั้งระบบจะต้องช่วยกัน
การจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืน
เฉินกล่าวว่า MUFG มีการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนด้วยกัน 3 ประเภท อย่างแรกทำสินเชื่อและพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนสีเขียวและทางสังคม ซึ่งจะเป็นวิธีที่ง่ายสำหรับธนาคารในการดูแลและการทำธุรกรรม โดยบริษัทจะต้องมีโครงการและมีการผลิตจริง
สิ่งที่สองมาในรูปแบบเงินกู้หรือพันธบัตรที่เกี่ยวกับอย่างยั่งยืน จะช่วยส่งเสริมให้ภาพลักษณ์องค์กร หากองค์กรต้องการบอกว่าพวกเขาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน การกู้ยืมเงินหรือซื้อพันธบัตรประเภทนี้จึงเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะพันธบัตรเหล่านี้มี KPI ที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะและความยั่งยืน
สุดท้ายคือสินเชื่อเพื่อสินทรัพย์ที่ยั่งยืน MUFG พยายามพัฒนาตลาดนี้ค่อนข้างมาก สินทรัพย์ที่ยั่งยืนเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา โดนเฉพาะแนวคิดเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม มาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ปัจจุบันชาวเอเชียเริ่มมีความตระหนักรู้เรื่องการลงทุนสีเขียวมากยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยมีเงินทุนด้านความยั่งยืนเข้ามาในภูมิภาคมากนัก
อิชิคาวะกล่าวว่าอาจเป็นเพราะว่าฝั่งยุโรปและอเมริกาไม่ได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชีย จึงทำให้ยังไม่เกิดการไหลเวียนของเงินทุนจำนวนมหาศาลในภูมิภาค
ดังนั้นจึงต้องอธิบายให้ชัดว่าเรากำลังเผชิญกับความท้าทายอะไร และเราต้องการการเงินประเภทใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลูกค้าจะต้องเป็นอธิบายให้ได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร เอาเงินไปทำอะไร มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง ธนาคารถึงจะสามารถจัดหาเงินให้ได้ โดยอิชิคาวะกล่าวทิ้งท้ายว่า “เอเชียพร้อมแล้วที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ขณะที่เฉินกล่าวเสริมว่า GFANZ ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายสถาบันการเงินระดับโลกที่มีบทบาทด้าน Net Zero กำลังแนะนำให้รัฐบาลจัดทำแผน NDC แผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการลงทุน ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าจะต้องลดก๊าซคาร์บอนเท่าใด แต่ต้องบอกด้วยว่าต้องการเทคโนโลยีอะไร ใช้เงินทุนอะไรบ้าง ต้องการเมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้รู้แน่ชัดว่าภูมิภาคนี้ต้องการเงินทุนอย่างไร