'4 แบงก์ใหญ่สหรัฐ' กำไรทะลุแสนล้านดอลลาร์ คาดเป็นขาขึ้นต่อในยุค 'ทรัมป์'
ธนาคารยักษ์ใหญ่ 4 แห่งในสหรัฐ ทำกำไรปี 2567 'สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์' คาดโมเมนตัมยังเป็นขาขึ้นต่อในยุคทรัมป์ 2.0
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่งในสหรัฐ ประกอบด้วย "เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค" (JPMorgan), "ซิตี้กรุ๊ป อิงค์" (Citigroup), "โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์" (Goldman Sachs), และ "เวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค" (Wells Fargo) รายงานผลประกอบการปี 2567 "ทำกำไรสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์" อยู่ที่ 1.05 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.63 ล้านล้านบาท) เป็นรองเพียงแค่ผลประกอบการของปี 2564 เท่านั้น
สถิติกำไรของสี่แบงก์ใหญ่ในปี 2567 ซึ่งรวมกันทะลุหลักแสนล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งที่สอง นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นรองเพียงแค่ปีแรกที่ "โจ ไบเดน" เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเท่านั้น
โดยรายได้จากธุรกรรมการซื้อขายและการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ค่าธรรมเนียมด้านการลงทุนของธนาคารพุ่งสูงขึ้นถึง 32% จากปี 2566 ที่ซบเซา แต่บรรดาผู้บริหารคาดการณ์ว่าข่าวดีครั้งนี้ยังเป็นเพียงแค่ "จุดเริ่มต้น" เท่านั้น
JPMorgan ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐในแง่มูลค่าสินทรัพย์ กลายเป็น "ธนาคารแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ" ที่สามารถทำกำไรต่อปีได้ทะลุหลัก 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.86 ล้านล้านบาท) และนับเป็นกำไรที่สูงสุดทุบสถิติใหม่ของบริษัทเอง
เจพีมอร์แกนเปิดเผยว่า ธนาคารมีกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาส 4/2567 โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการของธุรกิจตราสารหนี้และวาณิชธนกิจ ทำให้มีกำไร 4.81 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.11 ดอลลาร์/หุ้น และมีรายรับ 4.374 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.173 หมื่นล้านดอลลาร์
บลูมเบิร์กระบุว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" และสัญญาณของเขาเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ช่วยกระตุ้นตลาด และยังมีปัจจัยเรื่องตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ทำให้ความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปลี่ยนไป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ฝ่ายซื้อขายหลักทรัพย์ของ Goldman Sachs สร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2567 โดยโกลด์แมน แซคส์ทำกำไรไตรมาสสุดท้ายได้ 4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.85 แสนล้านบาท) ในปี 2567 ธนาคารระบุว่าประสบความสำเร็จเป็นพิเศษในการเชื่อมโยงบริษัทที่มีความเสี่ยงและกำลังมองหาเงินทุนเข้ากับลูกค้าที่เต็มใจที่จะลงทุน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสภาพสินเชื่อในระบบที่ยังคล่องตัว
ทางด้านธนาคาร Wells Fargo มีกำไรไตรมาสสุดท้าย 5.1 พันล้านดอลลาร์ หรือทั้งปีที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.9 แสนล้านบาท) โดยกลุ่มลูกค้าเงินฝากที่มีฐานะสูงหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกันมากขึ้น และธนาคาร Citigroup ทำกำไรไตรมาสสุดท้าย 2.9 พันล้านดอลลาร์ หรือทั้งปีที่ 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ (เกือบ 4.4 แสนล้านบาท)
เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเจพีมอร์แกน เคยกล่าวในการประชุมสุดยอดระดับโลกเมื่อกลางเดือนพ.ย. ที่ผ่านมาว่า ชัยชนะของทรัมป์ทำให้บรรดานายแบงก์ถึงกับอยากออกมาเต้นกลางถนน หลังจากเหล่าผู้บริหารบ่นกันมานานเกี่ยวกับการกำกับดูแลที่เข้มงวดของรัฐบาลไบเดน และโทษว่าทำให้การปล่อยสินเชื่อทำกำไรได้น้อยลง
ขณะที่เดวิด โซโลมอน ซีอีโอของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวถึงการกลับมาของทรัมป์ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซนติเมนท์ และ "รู้สึกเหมือนกับว่าเรามีแรงหนุนในการก้าวเข้าสู่ปี 2568"
หัวเรือใหญ่โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าจะมีการหารือที่ “สร้างสรรค์” มากขึ้นกับหน่วยงานกำกับดูแล และวิพากษ์วิจารณ์การทดสอบความแข็งแกร่งภาคธนาคาร (Stress test) ของเฟดว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้น “เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถเข้าใจได้”
ไดมอนกล่าวว่า ภาครัฐจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกำกับดูแลธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องของการกำหนดกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส ยุติธรรม ครอบคลุมในแนวทางของพวกเขา และอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้มงวด
ขณะนี้ความคาดหวังในกลุ่มผู้บริหารธนาคารก็คือ หน่วยงานรัฐในยุคของทรัมป์ 2.0 จะผ่อนปรนการกำกับดูแล ยกเลิกกฎเกณฑ์บางส่วน และลดหรือยกเลิกแคมเปญที่บังคับให้สถาบันการเงินรายใหญ่ต้องถือทุนสำรองมากขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ และนั่นหมายความว่ากลุ่มแบงก์ใหญ่ในสหรัฐมีความมั่นใจมากขึ้นต่อทิศทางกำไรในปีนี้ หลังจากทำผลงานได้ได้ในปีที่แล้ว