ไทย กรังด์ปรีซ์ 2028 สำคัญขนาดไหน? ทำไม F1 ถึงอยากมาจัดการแข่งขันที่ไทยให้ได้

ภาพการนั่งหารือกันระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทยกับ สเตฟาโน โดเมนิคาลี ซีอีโอแห่งฟอร์มูลาวัน กรุ๊ป (Formula 1 Group) ณ ทำเนียบรัฐบาลถือเป็นภาพที่มีความหมายและนัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
KEY
POINTS
- ภาพการเดินทางมาเยือนไทยอีกครั้งของซีอีโอเอฟวัน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต่างอะไรจากการตอกย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สายลมที่พัดผ่าน แต่เรามีการสานต่อกัน ไทยมีความหวังและมีโอกาสจะได้เป็นเจ้าภาพจริงๆ
- มีรายงานข่าวจากต่างประเทศระบุว่าไทยกำลังพิจารณาโยกย้ายสถานีขนส่งกรุงเทพ (หมอชิต 2) ออกไปเพื่อใช้พื้นที่สำหรับการสร้างสนามแข่งถาวรขึ้น
- สิ่งที่เอฟวันมองเห็นในประเทศไทยคือเรื่องของศักยภาพและโอกาสมากมายมหาศาล ปัจจุบันเอฟวันต้องการขยายฐานแฟนออกไปให้ได้ม
เพราะนี่คือเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 แล้วระหว่างตัวแทนทั้งสองฝ่าย ซึ่งนอกจากจะส่งความหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้เกิดการแข่งขันสุดยอดรถแข่งบนแผ่นดินสยามให้ได้จากทั้งสองฝั่งแล้ว มันชวนคิดและตีความได้เช่นกันว่าการเจรจานั้นมีความคืบหน้ากันไปมากแล้วใช่หรือไม่
แต่ในอีกทางหนึ่งการเดินทางมาด้วยตัวเองของซีอีโอ ก็น่าคิดเช่นกันว่ารายการระดับโลกที่ใครก็อยากเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทำไมถึงมีความพยายามที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในประเทศไทยขึ้นให้ได้ ผู้บริหารเอฟวันมองเห็นศักยภาพอะไรในบ้านเรา?
การพบกันในอีกหนึ่งปีต่อมา
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 หรือเกือบหนึ่งปีที่แล้ว ณ ห้องสีม่วง ทำเนียบรัฐบาล ได้ต้อนรับสเตฟาโน โดเมนิคาลี ซีอีโอฟอร์มูลาวัน ซึ่งเดินทางมาหารือกับเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
การพบกันครั้งนั้นถือเป็นการพบกันครั้งที่ 2 ระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพบและหารือกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยโดเมนิโคลี ได้เดินทางมาตามคำเชิญของรัฐบาล หลังจากที่ได้เคยพบนายกรัฐมนตรีไทยในระหว่างการเดินทางไปยุโรป
เป้าหมายของการหารือนั้นตรงกันคือไทยอยากจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอฟวันให้ได้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเอฟวันที่อยากจะจัดการแข่งขันที่ประเทศไทยเช่นกัน
“ไทยมีศักยภาพพร้อมเป็นเจ้าภาพจัด Formula One ที่กรุงเทพฯ หากสำเร็จผมมั่นใจว่าบ้านเราจะเป็นหนึ่งในเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่สร้างความประทับใจได้มากที่สุด ด้วยศักยภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก และมิตรไมตรีของคนไทยครับ
“วันนี้ผมได้หารือร่วม สเตฟาโน โดเมนิคาลี ประธานกรรมการบริหารบริษัท Formula One Group ที่ให้เกียรติเดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของรัฐบาล เพื่อศึกษาโอกาส สำรวจความเป็นไปได้ ในการใช้ไทยเป็น Street Race หรือสนามจัดการแข่งขัน F1”
จากจุดนั้นทำให้เกิดทั้งกระแสและคำถามถึงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอฟวันในประเทศไทย ว่าจะเป็นแค่ความฝันที่ไม่มีวันเป็นไปได้ หรือจะเป็นความจริงที่ทำให้คนรักกีฬาสายซิ่งได้ลิงโลดกับการจะได้เห็นสุดยอดนักขับระดับโลกมาปรากฏตัวในบ้านเรา
ภาพการเดินทางมาเยือนไทยอีกครั้งของโดเมนิโคลี จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต่างอะไรจากการตอกย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สายลมที่พัดผ่าน แต่เรามีการสานต่อกัน ไทยมีความหวังและมีโอกาสจะได้เป็นเจ้าภาพจริงๆ
ความคืบหน้าแบบน้อยแต่มาก
สิ่งที่เป็นคำถามใหญ่คือหากจะมีการแข่งขันที่ประเทศไทยจะเป็นการแข่งขันในรูปแบบใด ระหว่างการแข่งขันในสนามแข่ง (เรซเซอร์กิต) หรือการแข่งขันบนถนน (สตีทเซอร์กิต) ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่มากพอสมควรและต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
เพราะต้นทุนในการจัดการแข่งขันนั้นมหาศาล ซึ่งการจะตัดสินใจใดๆนั้นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอยู่ในกระบวนการศึกษาอยู่ว่าหากจะจัดการแข่งขันแบบไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีและตอบโจทย์ที่สุดในทุกด้านสำหรับทุกฝ่าย
ความเป็นไปได้นั้นมีทั้งการสร้างสนามแข่งแห่งใหม่ถาวรเลยที่อู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี รวมถึงสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นอย่างการแข่งสตรีทเซอร์กิต
แต่โดยเบื้องต้นการแข่งขันในแบบสตรีทเซอร์กิตดูมีความเป็นไปได้มากกว่า เพียงแต่จะไม่ใช่พื้นที่เขตชั้นในรอบเกาะรัตนโกสินทร์อย่างที่เคยวาดฝันกัน เพราะพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นเป้าหมายใหม่คือเขตจตุจักร ซึ่งมีรายงานข่าวจากต่างประเทศระบุว่าไทยกำลังพิจารณาโยกย้ายสถานีขนส่งกรุงเทพ (หมอชิต 2) ออกไปเพื่อใช้พื้นที่สำหรับการสร้างสนามแข่งถาวรขึ้น
แต่จะพิจารณาใช้พื้นที่รอบๆด้วย เช่น ใช้พื้นที่หมอชิต 2 สำหรับการเป็นกริดสตาร์ทและเส้นชัย ส่วนพิตหรือแพ็ดด็อก อาจจะกินพื้นที่สวนสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนวชิระเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจตุจักร
ในมุมมองของคนจำนวนไม่น้อย การหาสถานที่จัดการแข่งขันที่เหมาะสมนั้นอาจเป็นเรื่องที่ยากและลำบากกว่าการทุ่มงบประมาณเพื่อจัดการแข่งขัน
แต่ทั้งสองฝ่ายทั้งรัฐบาลไทยและเอฟวันต่างก็มีความเชื่อมั่นระหว่างกัน
แพทองธาร ชินวัตร กล่าวว่า “การแข่งขันกีฬาระดับโลกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยในการจัดงานระดับสากล แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ”
เรียกว่าเป็นหน้าเป็นตาและอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่รัฐบาลไทยชุดนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน แต่ในเมื่อมีประเทศต่างๆที่พร้อมจะช่วงชิงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอฟวันเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันทั้งสิ้น 24 สนาม คำถามคือแล้วทำไมเอฟวันต้องเลือกประเทศไทย
บูรพาไม่แพ้
นอกเหนือจากกระแสความนิยมของกีฬาเอฟวันในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกกระแสความนิยมของการแข่งรถชนิดนี้ที่บูมไปทั่วโลกจากสารคดีชุด “F1: Drive to Survive” ทาง Netflix แล้ว รวมถึงมี อเล็กซ์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักขับลูกครึ่งไทย-อังกฤษ อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักขับแห่งทีมวิลเลียมส์ที่เป็นขวัญใจคนไทย ซึ่งเปิดฉากฤดูกาลใหม่ได้ร้อนแแรงด้วยการจบอันดับที่ 4 ในรายการออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์
สิ่งที่เอฟวันมองเห็นในประเทศไทยคือเรื่องของศักยภาพและโอกาสมากมายมหาศาล
ปัจจุบันเอฟวันต้องการขยายฐานแฟนออกไปให้ได้มากที่สุดและกว้างไกลที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งนอกเหนือจากในทวีปยุโรปที่เป็นฐานหลักของเอฟวันมายาวนาน และตลาดใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอย่างในตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกาแล้ว ทวีปเอเชียเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพในตัวสูงมาก
ใน 24 สนามของเอฟวัน มีการแข่งขันในทวีปเอเชีย 7 รายการด้วยกัน ซึ่งแบ่งคร่าวๆได้แก่ภูมิภาคตะวันออกกลาง บาห์เรน กรังด์ปรีซ์, ซาอุดีอาระเบียน กรังด์ปรีซ์, กาตาร์ กรังด์ปรีซ์ และเอมิเรตส์ กรังด์ปรีซ์
ที่เหลืออยู่ทางฝั่งเอเชียตะวันออก อันได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กรังด์ปรีซ์ ที่ประเทศจีน (ซึ่งในปี 2025 กำลังจะจัดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้), เจแปนนีส กรังด์ปรีซ์ ที่สนามซูซูกะ สนามในตำนานประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ สนามไนท์เรซที่แข่งขันต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2008
และโซนนี้เองที่เอฟวัน ในยุคของ Liberty Media เจ้าของที่เข้ามาเทคโอเวอร์และชุบชีวิตการแข่งขันให้สดใหม่ตั้งแต่ปี 2017 มองว่ามีความสำคัญ
ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ห่างหายจากการจัดเอฟวันมาตั้งแต่ปี 2013 เช่นเดียวกับอินเดีย ที่ไม่มีแม้กระทั่งผู้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ ขณะที่มาเลเซียก็ไม่ได้จัดการแข่งขันอีกเลยตั้งแต่ปี 2017
ขณะที่ความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่ฮานอย ในรายการเวียดนาม กรังด์ปรีซ์ ที่เดินหน้าไปไกลแล้วสุดท้ายต้องล่มลงและไม่มีแววว่าจะกลับมาได้ มองแบบคนรักความท้าทาย ตลาดเอเชียคือขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าสำหรับเอฟวันได้เหมือนกัน
เมืองไทย จุดยุทธศาสตร์เอเชียตะวันออก
เอฟวันเชื่อว่าตลาดเอเชีย มีศักยภาพจะเติบโตได้อีกมาก และต้องการที่จะขยายฐานเจาะหัวใจของคนรุ่นใหม่ให้ได้
“นักการตลาดทุกคนฝันถึงการที่เอฟวันจะไปให้ถึงคนเอเชีย” ดาริโอ เดบาร์บิเอรี หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ HCL Software ซึ่งเป็นพันธมิตรของทีมรถแข่งเฟอร์รารี ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Financial Times เมื่อปี 2023
“ทำไมนั่นหรือ? เอาแค่ง่ายๆจับเอาจีนกับอินเดียเข้ารวมกัน เราจะเข้าถึงผู้คนอีกไม่ใช่แค่หลายล้าน แต่เป็นหลักพันล้าน แค่นี้ก็นับว่าสำคัญมากแล้วสำหรับพวกเรา”
อีกทั้งในทีมรถแข่งเอฟวันเองก็มีนักขับสายเลือดเอเชียอยู่บ้าง โดยในฤดูกาล 2025 มี ยูกิ ซึโนดะ แห่งทีม Racing Bulls และขวัญใจชาวไทย อเล็กซ์ อัลบอน อังศุสิงห์ แห่งทีม Williams ขณะที่โจว กวนยู ปัจจุบันเป็นนักขับสำรองของทีม Ferrari
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้หนึ่งในเมืองที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือประเทศไทย ซึ่งถ้าเปรียบเป็นการรบแล้ว ถ้าตีเมืองไทยได้ ก็ตีตลาดเอเชียต่อได้ไม่ยาก
อึกทั้งด้วยความเป็นไทย หนึ่งใน Destination ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลงรักและหลงไหล การจินตนการถึงภาพรถแข่งเอฟวันซิ่งทะยานไปตามท้องถนนของไทยเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะไม่ใช่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์อย่างที่เคยฝันไว้ว่าจะมีฉากหลังเป็นวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง แต่บริเวณอย่างสวนจตุกจักรเองก็มีพื้นที่ที่สวยงามไม่แพ้กัน
สตรีทเซอร์กิตในไทย เป็นที่เชื่อกันว่าจะมอบประสบการณ์ที่ดีและงดงามให้แฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกได้ไม่แพ้สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ หรือโมนาโก กรังด์ปรีซ์
สิ่งที่ไทยมีนอกจากฐานแฟนที่แข็งแกร่งแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากคือการที่รัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันในประเทศไทยได้
เพราะสิ่งที่เอฟวันต้องการคือเจ้าภาพที่มีความมั่นคง มีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเหมือนเครื่องการันตีว่าเอฟวันจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการหาเจ้าภาพจัดการแข่งขัน (เวียดนามเคยจะเป็นเจ้าภาพแต่สุดท้ายล่มไปและไม่เคยมีโอกาสอีกเลย)
โอกาสของไทย
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะปูทางให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพสบายๆ นอกเหนือจากสิ่งที่เราต้องจัดการตัวเองให้พร้อม โดยเฉพาะเรื่องของสนามแข่งแล้วก็อย่าลืมว่ามีอีกหลายชาติที่พร้อมเสนอตัวจะเป็นเจ้าภาพด้วยเหมือนกัน
ในเอเชียนอกจากไทยแล้วยังมีเกาหลีใต้ที่ให้ความสนใจอยู่ด้วย ขณะที่รวันดา ก็อยากเป็นชาติแรกในแอฟริกาที่ได้โอกาสเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอฟวัน และในอเมริกาใต้ อาร์เจนตินาซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันหนสุดท้ายในปี 1998 เองก็สนใจที่จะเสนอตัวอีกครั้งด้วย
ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณที่น่าประทับใจสำหรับโอกาสในการจัดเอฟวันในประเทศไทย แต่รัฐบาลยังมีการบ้านอีกเยอะมากที่จะต้องทำ โดยเฉพาะการจัดทำแผนแม่บทอย่างเป็นทางการสำหรับการจัดการแข่งขัน และคิดถึงประโยชน์รอบด้านที่จะเกิดขึ้น จะมีอะไรที่เราสามารถเก็บเกี่ยวจากการได้จัดสุดยอดการแข่งขันระดับโลกแบบนี้ได้อีก
นอกเหนือจากในด้านของการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศที่มีการพูดกันมาเยอะแล้ว ในเชิงของการกีฬา จะสร้างแรงบันดาลใจ จะต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างไรหรือไม่
รวมถึงในส่วนของการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เรืองของการขนส่ง เทคโนโลยี การสร้างงาน และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการตัดสินใจว่าคุ้มค่าพอที่จะเดินหน้าต่อหรือไม่
กรณีศึกษาคือ สตรีท ไนท์ เรซ ของ สิงคโปร์ ใช้งบประมาณการลงทุนราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,100 ล้านบาท
ของไทยยังไม่มีตัวเลขออกมาชัดๆว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร เพราะนอกจากค่าใบอนุญาตจัดการแข่งขัน (ไลเซนส์) ที่มีมูลค่ามหาศาลขึ้นอยู่กับการตกลงในแต่ละประเทศ ตั้งแต่ปีละ 20-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (670-1,680 ล้านบาท) ซึ่งจะแปรผกผันกับอีกหลายปัจจัย
- ระยะเวลาของสัญญา (สัญญายาวยิ่งจ่ายต่อปีน้อย)
- ความนิยมของสนามแข่ง (ยิ่งได้รับความนิยมมากยิ่งจ่ายน้อย)
- มูลค่าการตลาด (ตลาดที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสูง จ่ายแพงกว่า)
โดยในจำนวนนี้ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการลงทุนสร้างสนามแข่งและอื่นๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะใช้งบประมาณสูงกว่าที่ประเทศสิงคโปร์จัดการแข่งขัน และเป็นคำถามย้อนกลับมาน่าคิดว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่
การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ เพียงแต่บางครั้งการลงทุนกับประเทศนั้นอาจไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นแค่ผลประโยชน์ทางตรงอย่างตัวเงินแค่อย่างเดียว
ถ้าไทยอยากจะเป็น Destination ระดับโลกตัวจริง ต้องลุยเต็มตัวโดยเฉพาะถ้าหากเป้าหมายที่ทดไว้ในใจคือปี 2028 ไม่มีเวลาให้ชักช้าแล้ว
อ้างอิง