ภาษีทรัมป์สะเทือน ‘จีดีพี’ไทย1% เอกชนเร่งรัฐเจรจาลดผลกระทบ

สงครามการค้ากระทบเศรษฐกิจไทยแรง สำนักวิจัยแห่หั่นจีดีพีลง 1% จ่อหั่น “ต่ำสุด” เหลือเพียง 1.4% หวั่นเงินทุนไหลออก คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง สู่ระดับ 1.25%
KEY
POINTS
- สงครามการค้าก
โดยไทยได้ดุลการค้าสหรัฐมาอย่างต่อเนื่องและปี 2567 ได้ดุลการค้าเป็นอันดับที่ 11 ซึ่งท้ายที่สุดไทยถูกจัดเก็บในอัตรา 37% สูงที่สุดอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากกัมพูชาและลาว
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หากไทยถูกขึ้นกำแพงภาษีนำเข้า 36% ต่อเนื่อง โดยไม่มีการเจรจาหลังจากนี้ มองว่าอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ลดลงไปเหลือเพียง 1.3-1.4% จากเดิมที่คาด เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.3%
แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าหลังจากนี้หากไทยเดินหน้าเจรจาจะเป็นอย่างไร
ซึ่งมองว่าการประกาศของทรัมป์ครั้งนี้ อาจเป็นการเรียกให้ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐเจรจากับสหรัฐ และเอื้อสหรัฐมากขึ้น ดังนั้น มองว่าท้ายที่สุดอาจเห็นหลายประเทศหลุดการขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้ หรือถูกขึ้นภาษีนำเข้าแค่ 10% ซึ่งรวมไทยอยู่ในประเทศนั้น
“ซีไอเอ็มบีไทย” คาดฉุดจีดีพีไทยต่ำ 2%
ดร.อมรเทพจาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ภายใต้ซินาริโอปัจจุบันคาดฉุดเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 2% จากคาดเดิมที่ 2.6% อย่างไรก็ตามหวังว่าหลังจากนี้จะมีการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ เพื่อไม่นำไปสู่การชะงักด้านการค้า เพราะคงไม่มีตลาดใดทดแทนตลาดสหรัฐได้ และระยะสั้นสหรัฐคงไม่สามารถผลิตเพื่อมาชดเชยการนำเข้าที่สูงขึ้นได้ทัน
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศไทยคงจะไม่เกิดภาวะถดถอย หรือ Recession เกิดขึ้น จาก 2 ปัจจัยที่จะเป็นตัวประคอง ด้านแรกคือ นโยบายการคลัง ที่คาดว่าหลังจากนี้จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่น ไม่เพียงการแจกเงินแต่หมายถึงการสร้างอาชีพสร้างรายได้มากขึ้น อีกด้านคือนโยบายการเงิน จากการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ที่สนับสนุนให้เกิดสภาพคล่อง และเงินบาทที่อ่อนค่า ที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง
หวั่นเงินลงทุนไหลออกจากไทย
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบครั้งนี้ อาจฉุดจีดีพีไทยเหลือเพียง 1.4% จากเดิมคาด 2.4% จากผลกระทบการขึ้นภาษีของทรัมป์บน 36% โดยกระทบต่อการส่งออกให้ปีนี้ติดลบ 0.5% จากเดิมที่คาดเป็นบวก
นอกจากนี้ กระทบต่อเม็ดเงินลงทุนให้เกิดการไหลออกจากไทยต่อเนื่อง จากการย้ายฐานการผลิต จากภาษีส่งออกที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆมองไทยไม่ใช่ฐานการผลิตอีกต่อไป ดังนั้นผลที่จะตามมาคือกระทบต่อความเชื่อมั่น เพราะไทยอาจไม่เหมาะกับการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ หรือประเทศอื่นๆ ผลที่ตามมาที่กระทบต่อเนื่องคือกระทบต่อการจ้างงาน การผลิตที่จะถูกซ้ำเติมมากขึ้น
หั่นจีดีพีไทยเหลือ 1.45%
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่า การปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ครั้งนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risks) เพิ่มขึ้นมาก
รวมทั้งคาดกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากที่ราว 1.35% จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% เหลือเพียง 1.45%
โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น 1.การลดการกีดกันทาง และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มโควตานำเข้าสินค้าจากสหรัฐของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง เป็นต้น
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBAM ยอมรับว่าการเก็บภาษีจากสหรัฐเกินคาดไว้มาก จากเดิมคาดสูงสุดเพียง 25%เท่านั้น ดังนั้น มองไทยอาจต้องเร่งเจรจาเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด และมองว่าจากผลกระทบนี้อาจทำให้กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งปีนี้
ttb analytics มองสงกรานต์เงินสะดุด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 2568 ลดลง 13.5% อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท จาก 4.2 หมื่นล้านบาทในปีก่อนหน้า จากการขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการมาเที่ยวไทย ทั้งเหตุการณ์แก๊งคอลเซนเตอร์และสถานการณ์แผ่นดินไหว อีกทั้งช่วงเวลาวันหยุดไม่เอื้ออำนวยแก่นักท่องเที่ยวไทย ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่กระตุ้นเม็ดเงินสะพัดจากนักท่องเที่ยวไทยได้เท่าที่ควร
โดยคาดเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวไทยปี 2568 คาดอยู่ที่ 16,300 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 17,200 บาท หรือลดลง 5.2% และคาดเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 19,600 ล้านบาท ลดลง 24% จาก 24,300 ล้านบาทในปี 2567
คาด กนง.ลดดอกเบี้ย 30 เม.ย.นี้
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงประมาณการเดิม โดยค่าเงินบาทจะอ่อนค่าสุดในไตรมาส 2 ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจัยสหรัฐขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าไทย รวมถึงปัจจัยฤดูกาลการโอนเงินปันผลจากไทยกลับบริษัทแม่ในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตลาดจะติดตามทิศทางการเจรจาต่อรองของไทยกับสหรัฐในประเด็นการค้าก่อนวันที่ 9 เม.ย.นี้ ยังมองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงปลายปีนี้ ขณะที่นักลงทุนและธนาคารกลางสหรัฐจะให้น้ำหนักกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจเอง พร้อมกันนี้คาดการณ์ว่า กนง.อาจตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.นี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ยังคงมุมมองแนวโน้มค่าเงินบาทช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 มีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 35-35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากไตรมาส 2เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว
พร้อมกันนี้ประเมินมีโอกาสมากขึ้นที่ กนง.อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในการประชุมเม.ย.นี้หลังการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของสหรัฐล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินกนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง
ส.อ.ท.นัดสมาชิกหารือผลกระทบด่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ส.อ.ท.ประชุมฉุกเฉินวันที่ 4 เม.ย.2568 ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งสินค้าไปสหรัฐ เพื่อหารือผลกระทบและแนวทางการเตรียมรับมือ ดังนั้น วอร์รูมของภาครัฐควรรีบเรียกประชุมด่วนกับภาคเอกชนเช่นกัน
รวมทั้งเมื่อคำนวณแบบเร็วๆ ความเสียหายเดิมหากโดนขึ้นภาษี 10-15% จะฉุด GDP ไทยระดับ 0.2-0.6% แต่เมื่อไทยโดน 36% แบบนี้ก็อาจจะฉุด GDP เป็น 1% หากยังไม่สามารถแก้ไขหรือเจรจาอะไรได้จะทำให้ยอดการส่งออกของเรากระทบแรง ทำให้ GDP ปีนี้ ของไทยต้องปรับลดลงไปกว่าที่เดิมหรืออาจจะต่ำกว่า 2% ก็ได้ ถือเป็นปัญหาใหญ่คงไม่ใช่เฉพาะการส่งออกของไทยไปสหรัฐ
“สหรัฐมองการละเมิดสิทธิทางด้านของแรงงาน โดยอาจจะใช้แรงงานที่ไม่ดีต่างๆ เป็นสิ่งที่สหรัฐอธิบาย ดังนั้น ในรายละเอียดจะต้องศึกษา ตัวเลขนี้สหรัฐเกรงใจแล้ว ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูงแม้จะน้อยกว่าเวียดนามราว 10% ซึ่งประเทศในภูมิภาคโดนถ่วงหน้า ทั้ง มาเลเซียบรูไน กัมพูชา ที่มากกว่าไทย มีน้อยที่สุด 10% ก็คือสิงคโปร์”
“คลัง”คาดกระทบจีดีพีอย่างน้อย1%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 37% ว่า รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น
เพื่อแสดงความตั้งใจของไทยในการปรับสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ และรักษาความสัมพันธ์ในฐานะคู่ค้าที่ดี โดยตั้งเป้าให้การดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่คณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ
“วันนี้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงหลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และอาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึง GDP ของไทยอย่างน้อย 1% แต่เชื่อว่าหากไทยสามารถสร้างสมดุลทางการค้ากับสหรัฐได้จะช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด”
นายพิชัย กล่าวว่าการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เกิดจากมุมมองที่ว่าสหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ อัตราภาษีนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่สูงเกินไป ขณะที่ภาษีนำเข้าของสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า
ดังนั้น สหรัฐจึงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อดึงดูดให้ภาคการผลิตกลับเข้าไปในประเทศ ตามนโยบาย “America First” ของประธานาธิบดีทรัมป์
ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ ประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของดุลการค้าที่ไทยได้เปรียบ ดังนั้น แนวทางที่สหรัฐใช้เพื่อลดการได้เปรียบของไทยคือการเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อลดปริมาณการส่งออกจากไทย
แผ่นดินไหว-สหรัฐขึ้นภาษีเสียหายกว่า3แสนล.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย เพิ่ม 36% ว่า คาดว่าทั้ง 2 กรณี จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีไทยปีนี้ลดลง 2.02% ส่งผลให้จีดีพีไทย ทั้งปีนี้อาจขยายตัวปรับลดลงเหลือ 1% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 3%
โดยในส่วนของ ผลกระทบเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสร้างความเสียหายราว 15,747.8 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีลดลง 0.08% ส่วน มาตรการภาษีตอบโต้ จะสร้างผลกระทบมากถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93%
เผย 4 กลุ่มอุตสาหกรรมอ่วมสุด
สำหรับมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อ 4 กลุ่มสินค้า คือ เหล็ก, ผลิตภัณฑ์เหล็ก, อะลูมิเนียม, รถยนต์ อุปกรณ์-ส่วนประกอบ ซึ่งอัตราภาษีที่ประกาศใช้อยู่ที่ 25% โดยสินค้าทั้ง 4 กลุ่ม ประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 68 รวมกันที่ราว 4,727 ล้านดอลลาร์ แต่หากได้รับผลกระทบจากกรณีทรัมป์ 2.0 อาจจะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือราว 4,077 ล้านดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าของผลกระทบราว 650 ล้านดอลลาร์ (21,900 ล้านบาท)
ตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีไทยที่ 36% และทั้งโลกยังโดนเก็บภาษีในอัตราเฉลี่ย 10% ถือว่ามากกว่าคาด ทำให้ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทยมีมากขึ้น และมองว่าผลกระทบครั้งนี้อยู่ในระดับสูง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างไร รัฐบาลต้องดูผลกระทบรอบด้าน
ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม รัฐและเอกชนต้องพูดคุยกัน และดูถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย