MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 24-28 ตุลาคม 2565
เงินบาทลดช่วงแข็งค่าปลายสัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านแนว 38.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงเทขายจากการที่ตลาดเริ่มประเมินโอกาสที่เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์
• SET Index เคลื่อนไหวผันผวนแต่กลับมาปิดเหนือ 1,600 จุดได้อีกครั้ง โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านแนว 38.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรกก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามการฟื้นตัวขึ้นของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม ก่อนจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด กระตุ้นให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า หลังจากที่น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bps. ในการประชุม FOMC เดือนพ.ย. แล้ว
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินบางส่วนในเอเชีย นำโดย เงินเยน ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของฝั่งเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นก่อนการรายงานข้อมูล PCE/Core PCE Prices Indices เดือนก.ย. ของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 38.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ต.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 25-28 ต.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 8,464 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตร 5,205 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 6,110 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 905 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (31 ต.ค.-4 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 37.30-38.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (1-2 พ.ย.) รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI และ ISM สำหรับภาคการผลิตและภาคบริการเดือนต.ค. รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนก.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตาม ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจน PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนต.ค. ของจีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงในเวลาต่อมา ตามแรงขายหุ้นกลุ่มแบงก์และหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/65 หุ้นไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สวนทางกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลง โดยตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์
ในวันศุกร์ (28 ต.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,606.07 จุด เพิ่มขึ้น 0.93% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,198.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.23% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.42% มาปิดที่ระดับ 642.56 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ต.ค. – 4 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,635 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (1-2 พ.ย.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 3/65 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมถึงอัตราการว่างงานเดือนต.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของญี่ปุ่น จีดีพีไตรมาส 3/65 และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน