MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 26-30 ธันวาคม 2565
เงินบาทแกว่งตัวผันผวนในกรอบแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของปี 65
• เงินบาทผันผวนในกรอบแข็งค่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี โดยแม้เงินดอลลาร์ฯ จะฟื้นตัวกลับเป็นระยะๆ ตามการขยับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ แต่เงินบาทก็ยังคงได้รับอานิสงส์จากข่าวจีนเตรียมทยอยเปิดประเทศ และแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ
• SET Index ดีดตัวขึ้น ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ขานรับข่าวจีนเตรียมเปิดประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในกรอบแข็งค่าในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางเงินหยวนท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกหลังจากที่ทางการจีนประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากทิศทางเงินทุนต่างชาติ ซึ่งกลับมามีสถานะซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ ตามจังหวะการฟื้นตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ในวันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 26-30 ธ.ค. 2565 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 19,559 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 18,570 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 18,645 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 75 ล้านบาท)
สำหรับภาพรวมในปี 2565 นั้น เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงประมาณ 3.3% มาที่ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ 30 ธ.ค. 2565) จากระดับปิดสิ้นปี 2564 ที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินบาทส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งหลักๆ มาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2565 หลังจากเฟดเริ่มส่งสัญญาณชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความหวังที่จีนทยอยเปิดประเทศ
สัปดาห์ถัดไป (2-6 ม.ค. 2566) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 65 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นมากกว่า 50 จุดในสัปดาห์สุดท้ายของปี ทั้งนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากรายข่าวเกี่ยวกับการเตรียมเปิดประเทศของจีนในช่วงต้นปี 2566 รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยของธปท. ซึ่งยังสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจัยบวกดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในสัปดาห์นี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นมากสุดตามแรงซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งจากประเด็นเฉพาะของบริษัท ทั้งนี้ การซื้อขายเป็นไปอย่างคึกคักในวันทำการสุดท้ายของปีก่อนวันหยุดปีใหม่
ในวันศุกร์ (30 ธ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,668.66 จุด เพิ่มขึ้น 3.16% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 51,478.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.05% มาปิดที่ระดับ 584.16 จุด
สำหรับภาพรวมในปี 2565 นั้น ดัชนี SET เพิ่มขึ้น 0.67% มาปิดสิ้นปี 2565 ที่ระดับ 1,668.66 จุด จากระดับ 1,657.62 จุด ณ สิ้นปี 2564 โดยหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยลบจากการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด สงครามรัสเซีย-ยูเครน การระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ตลอดจนการล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีน อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ค. โดยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัว การส่งสัญญาณชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ย่อตัวลง และแรงหนุนเพิ่มเติมที่เข้ามาในช่วงปลายปีจากข่าวการเตรียมเปิดประเทศของจีน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 ม.ค. 2566) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,635 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,680 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 65 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีนรวมถึงแผนรับนักท่องเที่ยวจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนธ.ค. และบันทึกการประชุมเฟด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI เดือนธ.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน