วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (20 ก.พ. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (20 ก.พ. 66)

ราคาน้ำมันดิบร่วง หลังวิตกอัตราดอกเบี้ยแพงกระทบอุปสงค์ ท่ามกลางอุปทานที่อยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน

- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับลดลงกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล เนื่องจากตลาดกังวลอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดและจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อลง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ 

- อุปทานในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง หลังรัสเซียคงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบอยู่ในเดือน มี.ค. 66 ในระดับเดิม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการประกาศลดการผลิตลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ มิ.ย. 64

+ ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ปรับลดลงเป็นครั้งที่สองในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามราคาพลังงานที่ลดลง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. ปรับลดลง 1 แท่นมาอยู่ระดับ 760 แท่น
 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังถูกกดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ท่ามกลางแรงซื้อจากอินโดนีเซียที่ชะลอตัวลง โดยคาดจะมีการนำเข้าก่อนเทศกาลรอมฎอนที่ราว 10-11 ล้านบาร์เรล ลดลงจากปกติที่ราว 12-14 ล้านบาร์เรล


ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ตามตลาดดีเซลในยุโรปที่ปรับลดลงเนื่องจากสต็อกอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในเวียดนามที่ชะลอลงและปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ 
 

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (20 ก.พ. 66)