Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 20 February 2023
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันคาดจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 ก.พ. – 24 ก.พ. 66)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน เนื่องจากการเดินทางในประเทศทั้งทางบกและทางอากาศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นเนื่องจากรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือน มี.ค. 2566 ที่ราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกผ่านท่าเรือ Ceyhan ของประเทศตุรกีที่กลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว หลังในสัปดาห์ก่อนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวจากเหตุแผ่นดินไหว
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเพิ่มขึ้นในประเทศจีน โดยในรายงานประจำเดือน ก.พ. กลุ่มโอเปค (OPEC) ปรับเพิ่มประมาณการความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2566 ขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากรายงานในเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าปริมาณการใช้ทั้งปีจะเพิ่มขึ้นราว 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 2.3% จากปีก่อนหน้า
- ปริมาณการผลิตจากรัสเซียมีแนวโน้มปรับลดลงในเดือน มี.ค. 2566 เนื่องจากรัสเซียจะประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 2566 ลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพื่อตอบโต้มาตราการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปและมาตรการกำหนดเพดานราคาของกลุ่ม G7 และสหภาพยุโรป
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นกันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สำหรับสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 10 ก.พ. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 471.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ มิ.ย. 2564 หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการกลั่นลง 0.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 15.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สหรัฐฯ ประกาศแผนการระบายน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ในเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2566 ที่ราว 26 ล้านบาร์เรล เพื่อสกัดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา โดยการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุมัติให้ปล่อยน้ำมันออกจากคลังที่ได้รับมอบอำนาจจากสภาคองเกรสในก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันปริมาณน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์อยู่ที่ 372 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1983
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในการประชุม 3 ครั้งถัดไป เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงกลับมาอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯในเดือน ม.ค. 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.2% และนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ (Core CPI) ยังคงอยู่ที่ระดับสูงที่ราว 5.6% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5.5%
- ตลาดเริ่มคลายกังวลต่ออุปทานตึงตัว หลังตุรกีสามารถกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่าเรือ Ceyhan ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันได้แล้ว หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิรักและอาเซอร์ไบจาน โดยอาเซอร์ไบจานมีการส่งออกผ่านท่อขนส่ง Baku-Tbilisi-Ceyhan (BTC) มายังตุรกีที่ราว 0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 2566 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน ในเดือน ก.พ. 2566 และ GDP ไตรมาส 4/2565 ของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 ก.พ. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 76.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 3.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 83.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 16.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับขึ้น 1.16 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจีน