วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 เม.ย. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 เม.ย. 66)

ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังตัวเลขเศรษฐกิจในจีนโตกว่าคาด ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอยจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน

+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสทรงตัวอยู่ในระดับบวกเล็กน้อยหลังวานนี้ (18 เม.ย. 65) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยตัวเลข GDP สำหรับไตรมาส 1/2566 ขยายตัวกว่า 4.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.0% แสดงถึงเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกเติบโตเร็วกว่าคาด โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศ ขณะที่ปริมาณการกลั่นน้ำมันของจีนในเดือนมี.ค. เพิ่มสู่ระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์ที่ 14.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังนักวิเคราะห์คาดว่า ในการประชุมเดือน พ.ค. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นปัจจัยกดดันความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักจากแคว้นเคอร์ดิสถานซึ่งถูกระงับไปในช่วงก่อนหน้า มีแนวโน้มจะกลับมา หลังรัฐบาลแคว้นเคอร์ดิสถานลงนามในข้อตกลงชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 65 เพื่อเริ่มต้นการส่งออกอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการกลับมาดำเนินการนั้นยังไม่ชัดเจน

+ หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เผยเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 14 เม.ย. 66 ปรับลดลงกว่า2.68 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล 
 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากไต้หวันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังคาดว่าโรงกลั่นในประเทศจะซ่อมบำรุงแล้วเสร็จในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดีอุปสงค์ในออสเตรเลียยังคงเพิ่มสูงจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงในช่วงฤดูร้อน


ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการนำเข้าน้ำมันดีเซลของประเทศออสเตรเลียในเดือนมี.ค. ที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีน อ่าวเปอร์เซีย และอินเดียที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเช่นกัน

 

 

 

 

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 เม.ย. 66)