เวสต์เทกซัส 83.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 87.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (22 เม.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เทกซัส เพิ่ม หลังความขัดแย้งในตะวันออกกลางร้อนระอุ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และ เบรนท์ ปรับสูงขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่เมือง Isfahan ของอิหร่าน โดยแหล่งข่าวอ้างว่าเป็นการโจมตีของอิสราเอล ในขณะที่อิหร่านยังคงไม่มีแผนการตอบโต้อิสราเอล อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตาท่าทีของทั้งสองฝ่ายและสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง
+ Goldman Sachs ปรับคาด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 86 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยสูงกว่าก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ปี 2568 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยสูงกว่าก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดกลุ่ม OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือน ก.ค. 67 หลังล่าสุดทางกลุ่มนำโดยซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย จะคงการลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรล จนถึงเดือน มิ.ย. 67
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 เม.ย. 67 เพิ่มขึ้น 5 แท่น อยู่ที่ระดับ 511 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 ในขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติลดลง 3 แท่น สู่ระดับ 106 แท่น
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินโลกย่อตัวลง โดยตัวเลขนำเข้าน้ำมันเบนซินสิงค์โปร์ ประจำสัปดาห์วันที่ 17 เม.ย. 67 ลดลง 28% นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันเบนซินสูงขึ้นหลังโรงกลั่นไต้หวัน Formosa และโรงกลั่นอินเดีย MRPL เตรียมส่งออกน้ำมันเบนซินช่วงกลางเดือน พ.ค. 67
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นเกาหลีใต้ SK Energy เตรียมส่งออกน้ำมันดีเซล 0.6 ล้านบาร์เรล ช่วงเดือน พ.ค. 67 อย่างไรก็ตาม ปริมาณสต็อกน้ำมันดีเซลสิงค์โปร์ ประจำสัปดาห์ปรับลดลง 9.56% สู่ระดับ 10.14 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการลดลงจากระดับที่เคยสูงสุดอย่างต่อเนื่อง 2 สัปดาห์