วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.เคจีไอฯ Quantamental “Aggregate short interest”: ตัวแปรใหม่สำหรับวางแผนกลยุทธ์
ภาพรวมดัชนี SET index ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา Sideway Down และปิดลดลง 1.6% MoM แย่กว่าคาด โดยไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามาหนุนตลาดฯ นอกจากนี้ยังมีประเด็นลบจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยกดดันบรรยากาศการลงทุน (นักลงทุนต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงเพิ่ม)
Aggregate short interest (ASI): ข้อมูลสำคัญจาก Informed traders
บทวิเคราะห์นี้จะเริ่มต้นแนะนำโมเดลใหม่ที่เรียกว่า “Aggregate Short Interest” หรือ ASI สำหรับใช้วางแผนกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่ใช่โมเดลใหม่สำหรับตลาดทุนประเทศอื่นๆ แต่เป็นสิ่งใหม่สำหรับตลาดหุ้นไทย เพราะ SET เพิ่งทำการเปิดเผยข้อมูล Short-selling ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานี่เอง อ้างอิงจากงานวิจัยทางวิชาการ Rapach D. et al., 2016, Short interest and aggregate stock returns, Journal of Financial Economics นักลงทุนที่ทำการขายชอร์ตโดยปกติแล้วจะเป็นนักลงทุนกลุ่มที่เรียกว่า “Informed trader” ที่ใช้ข้อมูลด้านปัจจัยพื้นฐาน วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพื่อตัดสินใจลงทุน ซึ่งแตกต่างจาก Noise trader ดังนั้นข้อมูลปริมาณการขายชอร์ตคงค้างที่ SET เพิ่งทำการเปิดเผยไม่นานมานี้ จึงสามารถนำมาใช้วิเคราะห์สำหรับการตัดสินใจลงทุนได้ โดยการพิจารณา “Short interest” หรือ อัตราส่วนระหว่างปริมาณการขายชอร์ตคงค้างเทียบกับปริมาณหุ้นที่จดทะเบียน เราจะทำการคำนวณค่า ASI โดยวิธีหาค่าเฉลี่ย (Equal weight) ของ Short interest หุ้นทุกตัวในตลาด เว้นหุ้นที่ราคาต่ำกว่า 5 บาท และมูลค่าตลาดต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท (อิงเกณฑ์ใหม่ของ SET ที่จะห้ามชอร์ตหุ้นที่มูลค่าตลาดต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท) ทั้งนี้อ้างอิงจาก งานวิจัยฯ ของ Rapach D. et al., 2016 วิธีการคำนวณด้วย Equal weight เหมาะสมกับการนำไปใช้หาค่า ASI เพื่อพยากรณ์อัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่คำนวณมาด้วยวิธี Market cap weight เนื่องจาก จำนวนหุ้นที่ถูกชอร์ตจะเป็นตัวสะท้อนข้อมูลข่าวสารด้านลบที่จะเข้ามาในตลาดทุน ยิ่งจำนวนหุ้นถูกชอร์ตมากเท่าไหร่ ยิ่งบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะมีข่าวสารด้านลบเข้ามามากเท่านั้น
นอกจากนี้ ผลกระทบจากการขายชอร์ตต่อหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ โดยปกติแล้วจะมีผลน้อยกว่าหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ โดยเปรียบเทียบ ดังนั้นการใช้วิธี Equal weight จึงเหมาะสมสำหรับในกรณี ที่เราต้องการสัญญาณเตือนล่วงหน้าในภาพรวม ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน พ.ค. ค่า ASI สูงขึ้นเป็น 0.57% จาก 0.52% ในเดือน เม.ย. และ เป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น (ดูรูปที่ 1 และ 2) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า Downside ของตลาดหุ้นไทย มีไม่มากแล้ว จาก Valuation ที่ถูกมาก (Yield gap และ CAPE) และ คาดว่า SET จะเริ่มบังคับใช้กฏใหม่สำหรับการขายชอร์ตเร็วๆนี้ ทั้งนี้ โมเดล ASI ของเรานั้น สามารถวิเคราะห์ได้ 2 ทาง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆประกอบ โดยประเด็นแรก ค่า ASI ที่เร่งตัวขึ้นนั้น แน่นอนว่าส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุน และมีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับลงในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดีในอีกมุมหนึ่ง ด้านกลยุทธ์ Contrarian เราอาจพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริม อาทิเช่น ข่าวสารที่อาจจะพลิกกลับมาเป็นบวก ขณะที่ค่า ASI อยู่ในระดับที่สูง ทำให้นักลงทุนที่ขายชอร์ตไว้ อาจจำเป็นต้องซื้อหุ้นคืน ปิดสถานะชอร์ต และการซื้อหุ้นคืนนี้เอง จะเป็น Fund flow ที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นในอีกทางหนึ่ง
Value factor: Still undemanding
i) Modified yield gap (M-yield gap): M-yield gap ล่าสุด = +1.4 จุด สะท้อนว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันยังถูกอยู่เมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตร
ii) Implied equity risk premium (iERP): iERP หรือส่วนชดเชยความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยล่าสุด = 4.2% ใกล้เคียงกับเดือน เม.ย.
iii) Cyclical adjusted PE (CAPE): CAPE ล่าสุด = 16.1 เท่า ลดลงอีกเล็กน้อยเทียบเดือนก่อน ขณะที่ค่า Excess CAPE yield = 3.4% ทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน (ผลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้น)
ทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
แม้ค่า ASI จะเร่งตัวขึ้น แต่เรายังคงแนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้นไทย เนื่องจากเราประเมิน Downside จำกัด แล้ว โดยเหตุผลสนับสนุน ได้แก่ i) Valuation ที่ถูก ii) กฏเกณฑ์การขายชอร์ตจะเริ่มมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ iii) รัฐบาลเตรียมฟื้นกองทุน LTF (หนุนเม็ดเงินใหม่เข้าตลาดหุ้น) ดังนั้น เราแนะนำกลยุทธ์ Contrarian สวนกับ ASI ที่สูง โดยคาดหวังเม็ดเงินจากการซื้อคืนหุ้น จะช่วยหนุนอีกแรง ประเมินดัชนี SET index มีแนวรับ 1,330 จุด / แนวต้าน 1,380 – 1,400 จุด ทั้งนี้หุ้นเด่นเดือน เม.ย.ของเรา ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรวม +8% และ 1.1% (คำนวณด้วยวิธี Equal weight และ Market cap weight ตามลำดับ) ขณะที่ SET index ลดลง 1.6% หุ้นเด่นเดือน มิ.ย. อยู่ในรูปที่ 4