เวสต์เทกซัส 76.31 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 79.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (2 ส.ค. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนต่ำกว่าคาด
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
(-) ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงหลังตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ จากสถาบันไอเอสเอ็มเดือน ก.ค. 67 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46.8 นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 ขณะที่ตัวเลขผู้ขอยื่นสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกปรับเพิ่มขึ้น 14,000 รายจากสัปดาห์ก่อนหน้าสู่ระดับ 249,000 ราย แตะระดับสูงสุดในรอบปี สะท้อนการชะลอตัวภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจกดดันความต้องการใช้น้ำมัน
(-) นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมันจีนหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ก.ค. 67 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.4 หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของไฉซินเดือน ก.ค. 67 หดตัวลงครั้งแรกในรอบ 9 เดือนจากยอดสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง
(-/+) ผลการประชุมโอเปคพลัสในวันที่ 1 ส.ค. 67 มีมติคงนโยบายการผ่อนคลายการลดกำลังการผลิตที่จะเริ่มในช่วงไตรมาส 4 นี้ แต่อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มโอเปคได้ออกมาแสดงความเห็นว่าสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแผนการปรับลดกำลังการผลิตได้เสมอขึ้นอยู่เสถียรภาพราคาตลาดน้ำมัน
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการที่โรงกลั่นในไต้หวันเริ่มกลับมาดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุงทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 ก.ค.67 ปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนหลัง
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. 67 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกน้ำมันดีเซลจากอินเดียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นภายหลังความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในอินเดียยังคงชะลอตัวจากช่วงฤดูมรสุม