กลยุทธ์การลงทุน : บล.เคจีไอฯ เลือกสรรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวตามวัฏจักร มากกว่าที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
เนื่องจากเศรษฐกิจของอเมริกาอยู่ในช่วงที่ผ่านมามีระดับที่การจ้างงานเกือบเต็มที่ ดังนั้น จึงน่าจะเห็นการชะลอตัวตามวัฏจักรซึ่งจะทำให้ตลาดแรงงานกลับมาอยู่ระดับปกติ ในขณะที่ผู้บริโภคสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวตามวัฏจักรต่างกันกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเรามองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นเพียงการชะลอตัวตามวัฏจักรเท่านั้น และ เมื่อประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ลดลง เราจึงคิดว่ามีช่องให้ Fed ลดดอกเบี้ยลงแรงขึ้นได้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ เราคิดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวม 200bps ในวัฎจักรรอบนี้ ซึ่งจะทำให้ FFR ลดลงเหลือ 3.50% ในปี 2568F สำหรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ เราคาดว่า กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยเอาไว้ตลอดปี 2567 ก่อนที่จะปรับท่าทีที่เข้มงวดเกินไปในช่วงนี้ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 100bps เหลือ 1.50% ในปี 2568F เพื่อลดแรงกดดันต่อผู้บริโภค และ ลูกหนี้ในประเทศ
ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังต่ำ และ ตลาดเหมือนจะ discount กรณีฐานของการเกิดภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ‘ชะลอตัว’ ด้วยการลดดอกเบี้ยแรงขึ้น
ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ตลาดจะกลัวมากขึ้นว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่จากข้อมูลของ
Bloomberg ความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะถดถอยทั้งในสหรัฐ และ ยุโรป ยังค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 30% เท่านั้น
สอดคล้องกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ KGI ที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐใกล้จะเข้าสู่วัฏจักรการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ไม่น่าจะถึงกับเป็น hard landing และ Fed อาจจะเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ ทั้งนี้ จากมุมมองดังกล่าว เราเชื่อว่าดัชนี SET มี downside จำกัด และ การที่ตลาดเกิด correction ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ earnings yield gap (EYG) ของไทยขยับขึ้นไปเกิน 5.0% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง +1.0S.D.
นอกจากนี้ เรายังคำนวณ downside ของดัชนี SET ไว้ที่ 1,268 อิงจาก EYG เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง+1.0S.D. และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปีที่ 2.50% ดังนั้น เราจึงยังคงมองบวกกับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยใน 2H67 เนื่องปัจจัยการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น และ จะมีมาตรการกระตุ้นตลาดออกมาอย่างเช่น การเริ่มให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเป็นทางการสำหรับการลงทุนในกองทุน ESG และ การออก ‘กองทุนวายุภักษ์’
หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค, ICT, และหุ้นบางตัวในกลุ่มค้าปลีก F&B และ finance จะเป็นกลุ่มหลักที่ได้
อานิสงส์จากการที่ดอกเบี้ยในประเทศลดลงในปี 2568
นักวิเคราะห์ของเราได้ทำการวิเคราะห์ sensitivity ของผลที่จะเกิดกับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2568 จากการลดดอกเบี้ยลง 25bps ถึง 100bps ซึ่งจาก figure 4-5 จะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคจะได้อานิสงส์อย่างมีนัยสำคัญจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง เรายังคงเลือก BGRIM* และ
GPSC* เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มสาธารณูปโภค และยังคงเลือก TRUE* ซึ่งจะได้อานิสงส์อย่างมีนัยสำคัญจากการลดดอกเบี้ยเป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม ICT ในขณะเดียวกัน CPALL* น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในกลุ่มค้าปลีก นอกจากนี้เรามองว่า CPF* ดูน่าสนใจเพราะอ่อนไหวอย่างมากกับอัตราดอกเบี้ย สำหรับกลุ่ม finance เรามองว่าในระยะสั้น ราคาหุ้นน่าจะยังไม่ตอบสนองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย เพราะนักลงทุนยังเป็นกังวลกับประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ และความมั่นใจของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นกู้ของไทย สำหรับกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในด้านลบจากการลดดอกเบี้ยในปี 2568 เรามองว่าส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin) ของธนาคารขนาดใหญ่อาจจะถูกกระทบดังแสดงด้านล่าง แต่ผลกระทบที่แท้จริงอาจจะถูกชดเชยบางส่วนโดย GDP ที่อาจจะขยายตัวดีขึ้นจากผลของการลดดอกบี้ย