วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ อาจมีแรงทำกำไรสลับ
แรงขายกลุ่มเทคโนโลยีกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ หุ้นเทคโนโลยีปรับลดลง หลัง NVIDA รายงานผลประกอบการแข็งแกร่ง แต่ให้คาดการณ์ยอดขายที่ต่ำกว่าความคาดหวังของนักลงทุน ส่งผลให้หุ้นปรับลดลง 7% และดึงบรรยากาศลงทุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยรวมลง
อย่างไรก็ตามกลุ่มการเงิน, กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มสาธารณูปโภค โดยภาพรวมมีความเคลื่อนไหวทรงตัวแข็งแกร่งกว่า เรามองตลาดรับรู้ปัจจัยบวกเกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยไปล่วงหน้าแล้ว และนักลงทุนเข้าสู่ช่วงการปรับพอร์ตรับดอกเบี้ยขาลง โดยการชะลอของตัวเลขเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดโทนของการลงทุนในช่วง 1 เดือนข้างหน้า
บรรยากาศเก็งกำไรหุ้นไทยในภาพรวมปรับดีขึ้น แต่ระวังความผันผวนบริเวณ 1,365-1,380 จุด และการปรับพอร์ตตามดัชนี MSCI ในวันที่ 30 ส.ค. หุ้นไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดราว 70 จุด เรายังคงยืนยันมุมมองเชิงบวกในระยะกลาง-ยาวต่อหุ้นไทย ทั้งจากการฟื้นของโมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท (และสกุลเงินเอเซียอื่น) ทำให้นักลงทุนต่างชาติน่าจะมีกำไรในการลงทุนในระดับที่มากกว่า 16% (หุ้นรายตัวขนาดใหญ่หลายตัว 20-25%) ทำให้ต้องระวังแรงทำกำไรสลับระยะสั้นในหุ้นรายตัว ขณะที่การปรับพอร์ตของ MSCI ในรอบนี้ การหลุดจากดัชนีและการถูกลดน้ำหนักของหุ้นหลายตัว อาทิ AWC (- 95 ล้านดอลลาร์ฯ), GPSC(-90 ล้านดอลลาร์ฯ), IVL ( -90 ล้านดอลลาร์ฯฯ) และ EA(- 35 ล้านดอลลาร์ฯฯ) คาดส่งผลต่อบรรยากาศลงทุนและความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงวันพรุ่งนี้
สะสมหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลและได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เรายังคงมองเป็นบวกต่อหุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล และแนวคิดต่างๆ ของคุณทักษิณ ในงาน Vision for Thailand 2024 ที่รัฐบาลอาจนำไปประยุกต์ใช้กับนโยบายได้ หุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ AOT, BBL, CPALL รวมถึงหุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาทิ 1) กลุ่มการเงิน. 2) โรงไฟฟ้า และ 3) กลุ่มกองทุน REITs
ภาพรวมกลยุทธ์ ติดตามความคืบหน้าครม.ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในสุดสัปดาห์นี้ ยังคาดกลุ่มคล้ายพันธบัตร และได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง อาทิ ไฟฟ้า รีทส์ แกร่งกว่าตลาด และใช้จังหวะผันผวนสะสมหุ้นที่โมเมนตัมกำไรยังเป็นขาขึ้น อาทิ สื่อสาร, อาหาร และค้าปลีก // กลุ่มท่องเที่ยวน่าสนใจจากการเข้าสู่ high season เราชอบ AOT, ERW, SPA
แนวรับ: 1,350-1,357 / แนวต้าน : 1,370 จุด
สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%
หุ้นแนะนำ (* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ นักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาเข้าซื้อ)
• SYNEX (18) : ผลการดำเนินงานได้แรงหนุนจากการกลับมาของรายจ่ายภาครัฐ และการลงทุนของเอกชนรับ AI transformation ตัดขาดทุน 13.20 บาท
• MEB* (34) : ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 เติบโต จากแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านจากหนังสือเล่มสู่ E-Book และคาดดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ตัดขาดทุน 30 บาท
• EGCO* (116) : ราคาหุ้นตอบรับผลประกอบการที่อ่อนแอจากการตั้งสำรองโครงการผลิตไฟฟ้าที่ต่างประเทศไปแล้ว ขณะที่ปัจจุบัน ซื้อขายด้วย PER 8x, PBV 0.46x และให้ปันผล 6.72% ตัดขาดทุน 93 บาท
• CPN* (61) : ผลประกอบการไตรมาส 2/67 แข็งแกร่ง ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเปิดโครงการใหม่ ตัดขาดทุน 57 บาท
ประเด็นที่น่าสนใจ
- ก.ล.ต. ฟื้นเชื่อมั่นต่างชาติ หวังหุ้นไทยฟื้นสู่ 1,500 จุด
- ประธาน ตลท.ผุดไอเดียตั้ง Venture Capital ดึง บจ.-รายย่อย ลงทุน
- “เผ่าภูมิ” ชูไทยเป็น Financial Hub ในภูมิภาค
- ก.พาณิชย์ ถกผู้บริหารระดับสูง 28 หน่วยงาน เคาะ 5 มาตรการ รับมือ สินค้านำเข้า ราคาต่ำ-ไม่ได้คุณภาพ
- สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น หลังดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง
- EGCO แนะนำ ซื้อ เป้า 150 บาท
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
30 ส.ค. – US Core PCE (Jul)