เปิด ยีลด์ฟาร์มมิ่ง ‘สเตเบิลคอยน์’ สูงสุด 8 อันดับ
ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำ การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปมีผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย ทำให้นักลงทุนในตลาดคริปโทหันมารับผลตอบแทนจาก“การฟาร์ม (Farming)”เหรียญแทน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในตลาดคริปโทที่มีผลตอบแทนสูง
“คริปโตมายด์ รีเสิร์ช”ของ บริษัท คริปโตมายด์แอดไวเซอรี่ จำกัด เผยรายงาน การเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้ ระหว่างการฝากธนาคารและการฝากพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดและผลตอบแทนจากการฟาร์มสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) หรือ Yield Farming ซึ่งการฟาร์มในกลุ่ม DeFi นั้นมีผลตอบแทนมากกว่าอยู่ที่ 2.88% ซึ่งต่างกันอยู่ที่ประมาณ 1.5 เท่า ขณะที่การฝากธนาคารมีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 1.88% ต่อปี
Yield Farming คือการที่นักลงทุนพยายามเพิ่มอัตรากำไรต่อเงินทุนที่มีโดยการใช้ประโยชน์จากโปรโตคอลที่แตกต่างกันของแพลตฟอร์ม DeFi (Decentralized Finance) คือบริการทางการเงินที่สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลางอ้างอิงจากแพลตฟอร์มที่มีTVL (Total Value Locked ) หรือปริมาณมูลค่าสินทรัพย์ที่ถูกใส่เข้าสมาร์ทคอนแทรค ที่มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งได้รับการตรวจสอบและเปิดมานานแล้ว จึงมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง เช่น Curve, UniSwap, Compound, Aave, PancakeSwap, Traderjoe และ SpookySwap
สำหรับแพลตฟอร์ม DeFi ที่มีผลตอบแทนสูงสุด ได้แก่ SpookySwapมีค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนรายปีใน 7 วันที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย.2565) 5.08% ตามด้วยCurve Finance มีค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 4.95% และTraderjoeมีค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 3.95% สำหรับ Pancakeswap, Compound และ Aave สองแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน มีค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 2.42%, 0.74%และ0.82% ตามลำดับ
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆ จะพบว่าผลตอบแทนจากเงินฝากและพันธบัตรเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่วนผลตอบแทนในการมาฝาก สเตเบิลคอยน์ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก จาก APR หรืออัตราดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น คิดเป็นรายปีประมาณ 8% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการทำธุรกรรม Trading Fee ในการเก็บค่าธรรมเนียมการกู้ยืมในแพลตฟอร์มนั้นๆลดลงจากสภาวะของตลาด ส่งผลให้ผลตอบแทนจึงลดลงตามไปด้วย