‘เจ เวนเจอร์ส’ ผนึก 'เอวานทิส' ผสานเทคโนโลยี & การเงินร่วมกัน
JMART ได้มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนใน บริษัท เอวานทิส แลบอราทอรี (ประเทศไทย) จำกัด (Avantis) จำนวน 318,182 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 31.82% ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 63 ล้านบาท โดย Avantis เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Financial Technology)
ดังนั้น บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีในเครือกลุ่ม “เจ มาร์ท” เป็นหัวหอกในการลงทุนด้านเทคโนโลยี ในงาน Thailand Crypto Expo “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บอกว่า การลงทุนใน Avantis บริษัทที่ดำเนินธุรกิจ “โทเคนไนเซชัน แอสเสท” เนื่องจากยังมองเห็นแนวโน้มตลาดยังมี “โอกาส” สร้างการเติบโตอีกมาก
โดยบริษัทจะมีการนำเอา “เทคโนโลยี” มาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ เช่น Decentralized Technology เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็ว ความปลอดภัย ลดต้นทุนที่เกิดขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในธุรกิจการเงิน และธุรกิจหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ในการนำสินทรัพย์ใดๆ ก็ได้ในโลกนี้มาเแปลงเป็น “โทเคน” และนำมาซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายได้ ซึ่งเป็นการลงทุนในอนาคตที่ใกล้ตัวมากขึ้น จากตลาดหลักทรัพย์เปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange) หรือ TDX เพื่อเทรดโทเคนที่มีหลักทรัพย์มารองรับซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในตลาดสามารถทำความเข้าใจได้มากกว่า
“การเข้าลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีสำหรับนักลงทุนในประเทศไทยว่า อยากให้ศึกษา และเข้าใจโปรเจกต์ของเหรียญนั้นๆ มองถึงยูทิลิตี้ และพื้นฐานที่สำคัญของเหรียญ เนื่องจากในปัจจุบันมีเหรียญดิจิทัลที่อยู่ในตลาดกว่า 95% ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความเชื่อ และโปรเจกต์ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดๆ มาอ้างอิง”
การนำ “Digital Tranformation” มาใช้ในภาคธุรกิจ และการเงิน จะต้องเข้าใจรูปแบบองค์กร และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ภาพการมองสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีเปลี่ยนมุมมองไปจากเดิม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อสินทรัพย์หรือธุรกิจต่างๆ เข้าสู่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
หากย้อนไปในอดีตที่บริษัทมีการออกเหรียญ “JFIN” ออกมาสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในปี 2561 โดยมีจุดประสงค์หลักคือ สร้างเหรียญขึ้นด้วย “โทเคนนอมิก” หรือ “เศรษฐศาสตร์ของเหรียญ” เพื่อการซื้อขายบนกระดานเทรดโดยไม่ได้คำนึงถึง “ยูทิลิตี้” หรือการใช้ประโยชน์จากเหรียญ ทำให้เป็นความท้าทายในการรักษาเหรียญให้มี “ฟันดาเมนทัล” ที่จะสามารถพยุงราคาเหรียญให้มีคุณภาพอยู่เสมอ
ทำให้บริษัทมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของ “เว็บ 3.0” ในยุค “JFIN adoption” ในการสร้างการรับรู้การใช้งานเหรียญ JFIN Coin บล็อกเชน JFIN Chain ในอีโคซิสเต็มของJMART ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งาน และแก้ไขปัญหาระบบการทำงานได้ พร้อมทั้งเชื่อว่าในอนาคต หลายๆ องค์กรอยากมีบล็อกเชนใช้หรืออยากมีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง เพื่อสร้าง dApps มาใช้ในภาคธุรกิจ จากการยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทยที่กำลังเติบโตในอนาคต
พลิก NFT สู่กลยุทย์การตลาด
ขณะนี้มีเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของไทยอยู่ในตลาดกว่า 3 ล้านเหรียญ และ 9.9% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลก 51% ของการลงทุนในฟินเทคเข้ามาลงทุนในธุรกิจด้านบล็อกเชน และบล็อกเชนที่ใช้ระบบ e-payment รวมทั้งประมาณการซื้อขายบนบล็อกเชนเติบโตขึ้น 600% ภายใน 5 เดือน
ความสนใจในอุตสาหกรรม NFT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับแบรนด์ มีหลายแบรนด์ดังที่เข้าสู่วงการ NFT และเปิดธุรกิจใน Metaverse เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงการสร้างชุมชนของแฟนคลับให้ขยายฐานออกไปกว้างมากขึ้น รองรับการเติบโตของกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบเทคโนโลยี
ปริมาณการซื้อขายในตลาด JNFT อยู่ที่ปริมาณ 40-50 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดซื้อขาย NFTที่เจาะตลาดในกลุ่มนักลงทุนและศิลปินชาวไทยเป็นหลักทำให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อขายในตลาดต่างประเทศต้องย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนของแพลตฟอร์มหากในอนาคตประเทศไทยมีการนำNFTไปใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น แต่ยังไม่มียูสเคสของการนำไปใช้
สำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน และแพลตฟอร์มที่ เจ เวนเจอร์ส ได้พัฒนาขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น JFIN Chain ซึ่งเป็นบล็อกเชนของเราเอง หรือ JNFT Marketplace แพลตฟอร์ม NFT ที่พร้อมใช้งาน จากเดิมเราที่เน้นสร้างแพลตฟอร์มสำหรับให้ครีเอเตอร์ได้มาพบกับคอลเลคเตอร์ จากช่วงปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้พร้อมรองรับทุกการเติบโต
ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพที่จะสร้างให้เกิด "อีโคซิสเต็ม" ของ NFT กับพันธมิตรของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จะทำให้ครีเอเตอร์ได้มีโอกาสมากกว่าแค่เพียงสร้างงานให้เกิดการสะสม หรือซื้อขาย และธุรกิจเองก็จะได้ใช้เทคโนโลยีนี้ให้เป็นมากกว่าของสะสม หรือกิจกรรมทางการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นทั้ง Loyalty Program หรือการจัดอีเวนต์ทุกรูปแบบ และที่สำคัญถือเป็นอีกส่วนในการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น DX หรือ Digital Transformation อีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์