“สภาทองคำโลก” ปฏิรูปเทรดทอง หนุน“โทเคนดิจิทัล-บล็อกเชน”เสริมสภาพคล่อง

“สภาทองคำโลก” ปฏิรูปเทรดทอง  หนุน“โทเคนดิจิทัล-บล็อกเชน”เสริมสภาพคล่อง

เทคโนโลยี “บล็อกเชน” เข้ามามีบทบาทในตลาดการเงิน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และกำลังเข้าสู่ “ตลาดทองคำโลก” ที่มีอายุยาวนานหลายทศวรรษซึ่งมีมูลค่ากว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ “โทเคน ดิจิทัล” จึงเป็นรูปแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับตลาดทองคำแบบดั้งเดิม

เดวิด เท็ต ประธานสภาทองคำโลก กล่าวว่า “สภาทองคำโลก” เตรียมยกระดับระบบทองคำแบบดั้งเดิมด้วยระบบ “บล็อกเชน” ซึ่งสามารถใช้ติดตามทองคำทุกก้อนบนโลกใบนี้ จึงนำไปสู่การสร้าง “โทเคนดิจิทัล” ที่อ้างอิงราคาทองคำที่สามารถซื้อขายได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความต้องการในตลาดทองคำ

ขณะที่ “ทองคำ” เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ได้รับความกดดันจากกฎระเบียบใหม่ ซึ่งมีผลต่อราคาทองคำ รวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีที่ถือเป็นการลงทุนทางเลือก เช่น “บิตคอยน์” ถูกเรียกว่าเป็น ‘ทองคำดิจิทัล’ เรียกความสนใจจากนักลงทุนจนเติบโตมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

หนุนรายย่อยเข้าถึงทองคำ

เท็ต มองว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีด้วยการสร้าง “โทเคน” ที่อ้างอิงราคาทองคำจะทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงทองคำได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเดิมนักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงทองคำกายภาพได้ค่อนข้างยาก รวมทั้งแก้ปัญหามาตรฐานการเทรดทองคำที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น ลอนดอนใช้ทองคำ 400 ออนซ์ ในการเทรด 

ในขณะที่ COMEX Futures ในสหรัฐ ใช้ทองคำ 100 ออนซ์ในการเทรด รวมทั้งนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อในปริมาณขั้นต่ำ ก็อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม การนำสินทรัพย์ที่ค้ำประกันกับทองคำ มาออกเป็นหน่วยให้สามารถซื้อขายได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากสภาทองคำได้เคยช่วยเปิดตัวกองทุน SPDR Gold Shares ETF ตั้งแต่ในปี 2547 แล้ว ซึ่งปัจจุบันถือครองสินทรัพย์มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนรายย่อยไม่สามารถแลกกับทองคำจริงได้ 

  โดยสภาทองคำโลกผลักดันให้โปรเจกต์โดยอาศัยธนาคารในวอลล์สตรีทไปจนถึงฝ่ายกำกับดูแลของจีนและอินเดีย แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนารูปแบบการเทรดในตลาดทองคำ คือต้องได้รับการยอมรับจากผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอย่าง เจพี มอร์แกน เชส และเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์

ไม่กระทบตลาดทองประเทศไทย

ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวว่า การเทรดทองคำในรูปแบบดังกล่าว มองว่า เป็นเทรนด์ของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ควบคู่กับการใช้โทเคนที่เป็นสเตเบิลคอยน์ ทำให้การซื้อขายทองสะดวกมากขึ้นในปัจจุบันตลาดมีการซื้อขายทองคำในรูปแบบนี้อยู่แล้ว 

 แต่ยังไม่ได้มีการทำอย่างเป็นทางการ ดังนั้นเมื่อสภาทองคำโลก ผลักดันการเทรดรูปแบบนี้ เราก็ยังต้องติดตามพัฒนาของตลาดจะอย่างไรต่อไป และผลตอบรับของตลาดจะมีมากน้อยแค่ไหน

ณัฐพงศ์ มองว่า ในระยะข้างหน้า หากตลาดตอบรับดีและใช้กันอย่างแพร่หลาย เชื่อว่าในประเทศไทยก็อาจพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้เช่นกัน เพราะตอนนี้ในส่วนของเราเอง ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาใช้โดยเชื่อมกับแอปเป๋าตัง เป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนและทำให้การซื้อขายทองสะดวกในปัจจุบันสะดวกมากขึ้น

 อย่างไรก็ตามการที่เรายังไม่ใช้การเทรดทองคำรูปแบบนี้ มองว่า ทางสภาทองคำโลก ไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้ค้าทองต้องทำตาม รวมทั้งไม่ได้สร้างเสียหายทำให้ตลาดผันผวน หรือส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำในไทยที่เป็นอยู่ เพราะตลาดทองไทยเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะ คนไทยซื้อทองยังต้องการเก็บทองจริงๆมากกว่า

“โกลด์ ดิจิทัล” ขยายตลาดนักลงทุน

ศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส กล่าวว่า “โกลด์ ดิจิทัล” คือการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชน และทองคำมาแปลงให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จากเทรนด์โลกในขณะนี้ที่มีการพูดถึงบล็อกเชน รวมทั้งธุรกิจทองคำรายเล็ก เริ่มอยากทำโกลด์ดิจิทัล 

รวมทั้งก่อนหน้านี้สภาทองคำโลกเคยตั้งกองทุนกองทำ SPDR Gold Shares อาจทำให้ตัดสินใจเข้ามาการพัฒนา“ดิจิทัล”ในตลาดทองคำ ถือเป็นข้อดีที่ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายในหน่วยย่อยได้ ซึ่งจะสามารถเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ได้

สำหรับตลาดทองคำในประเทศไทยและทั่วโลก มีหลายรายที่มีความต้องการทำการซื้อขายผ่านรูปแบบดังกล่าว และแม้ว่าเทรนด์การลงทุนในตลาดจะเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามราคาการลงทุนยังคงล้อไปตามราคาสินทรัพย์ที่อ้างอิงไว้คือทองคำ