'บล็อกเชน' ผลิกโฉมเทคโนโลยีการเงิน ดันตลาดโทเคนไนเซชั่นโต
‘โทเคนไนเซชั่น’ Asset Tokenization คือ การแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น ทองคำ โฉนดที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือศิลปะที่มีราคาให้มาอยู่ในรูปแบบของ‘โทเคนดิจิทัล’ บนเทคโนโลยี‘บล็อกเชน’ ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีสินทรัพย์อ้างอิงที่ชัดเจน และมั่นคงมากขึ้น
เรียกได้ว่าเป็น Investment Token หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกของ การเงินดั้งเดิม (Traditiona Finance) และ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ต่างๆ รวมเข้าด้วยกัน
มาร์เก็ทแอนด์มาร์เก็ทรีเสิร์ช (MarketsandMarkets Research Pvt. Ltd.) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาดระดับโลก รายงานว่ามูลค่าตลาดโทเคนไนเซชั่นทั่วโลกในปี 2569 จะเติบโตแตะ 5.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 152.17% จากปี 2564 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเพราะความต้องการการลงทุนในโลกดิจิทัลที่มีความปลอดภัย และพัฒนาการของเทคโนโลยีการเงิน ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจระดับเอ็มเอ็มอีและองค์กรขนาดใหญ่
วีรพงษ์ ชุติภัทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียล เอสเตท เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันตลาดอินเวสเมนท์โทเคน หรือ โทเคนไนเซชันทั่วโลกจะยังไม่เติบโตมาก แต่เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถเติบโตได้จากความต้องการในการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ๆที่สามารถเข้าถึงง่าย และรูปแบบสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและโปร่งใสบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งนิยมสร้างขึ้นบน อีเธอเรียมบล็อกเชน
ทั้งนี้ประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อดีที่เห็นภาพชัดเจนด้วยกัน 7 ข้อ คือ 1.สามารถซื้อขายและแลกเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย 2.สามารถแบ่งสัดส่วนการถือครองหรือการเป็นเจ้าของเป็นหน่วยย่อยๆได้อย่างไม่จำกัด 3.สามารถลดตัวกลางในการจัดการเรื่องความเป็นเจ้าของ 4.ค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนหรือดูแลต่ำ 5.สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้อย่างโปร่งใส เพราะไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขได้ 6.ธุรกรรมสามารถทำแบบไร้พรมแดนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 7.สามารถนำไปสู่กระบวนการแบบอัตโนมัติผ่าน Smart Contract
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ได้ยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัล และการออกสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ โดยต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ผ่านพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และกฎระเบียบที่มีความชัดเจนมากขึ้นจะเติบโตพร้อมกับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ถือเป็นแนวโน้มสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถเป็นหนึ่งในศูนย์การระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลของภูมิภาคได้ในอนาคต
โดยมูลค่าของโทเคนดิจิทัลสามารถเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ประเภทใดก็ได้ และสามารถออกรูปแบบผลตอบแทนการลงทุนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผลตอบแทนเป็นเงิน (Investment Return) หรือผลตอบแทนเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ (Utility Return) ดังนั้น ICO (Initial Coin Offering) จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญขององค์กรมหาชนและองค์ธุรกิจที่สามารถระดมทุนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการเชื่อมโลก 2 โลกที่สามารถนำเม็ดเงินจากโลกการเงินแบบปกติเข้าสู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง มั่นใจและอยู่ภายใต้ความควบคุมของ ก.ล.ต.
ทำให้การระดมทุนแบบ ICO ในประเทศไทยจะต้องทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)ที่ได้รับการรองรับจาก ก.ล.ต. ให้เป็นผู้ประการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ มีหน้าที่กลั่นกรองลักษณะของโทเคนดิจิทัลที่จะเสนอขายคุณสมบัติของผู้ออก และความครบถ้วนถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน
3 Investment Token
ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ถึง 7 บริษัท และได้มีการออกเสนอขายโทเคน ในรูปแบบ Investment Token ในประเทศไทยแล้ว 3 เหรียญ คือ
1. สิริ ฮับ โทเคน (SiriHub Token) เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ส่วนสุดท้าย จากการจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดโครงการ 4 ปี โดยระดมทุนไปทั้งหมด 2,400 ล้านบาท จาก SiriHubA 1,600 ล้านบาทและ SirihubB 800 ล้านบาท
2.เดสทินี โทเคน(Destiny Token)เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในรูปแบบ โครงการ(Project Based) จากภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางบริษัท สเปเชียล เดสทินี จำกัด ได้ใช้สิทธิ์ไถ่ถอนโทเคนดิจิทัลก่อนกำหนด ทางผู้ลงทุนทั้งหมดก็ได้รับเงินต้นคืนครบถ้วนพร้อมผลตอบแทน 2.99% ต่อปีของมูลค่าเงินลงทุน
3. เรียลเอ็กซ์ โทเคน (Real X Token) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนล่าสุดในตลาด โดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์อ้างอิง