ซีอีโอ OpenAI ปล่อย worldcoin สนั่นวงการ’คริปโท’ สแกนม่านตาทำธุรกรรมการเงิน
การมาถึงของกระแส “ChatGPT” ส่งผลให้หลายคนให้ความสนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในวงการคริปโท ไม่น้อย หรือที่เรียกว่า “AI Coin” มีการนำเทคโนโลยี AI มาทำงานร่วมกับบล็อกเชนอย่างไร ส่งผลให้เกิดอะไรบ้าง คำถามนี้เริ่มชัดขึ้น
Key Point:
- ซีอีโอ OpenAI เปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ คริปโท AI "Worldcoin"
- Worldcoin เพื่อ“พิสูจน์ความเป็นมนุษย์” ผ่านวิธี“สแกนม่านตา” มี “โทเคน WLD” เป็นเหรียญประจำโปรเจกต์
เมื่อโปรเจกต์ “เวิลด์คอยน์” Worldcoin ซึ่งก่อตั้งโดย “แซม อัลต์แมน” ซีอีโอ OpenAI เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังจากที่พัฒนาและทดสอบเบต้ามานานกว่า 2 ปี
อัลต์แมน กล่าวว่า โปรเจกต์ Worldcoin มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ“พิสูจน์ความเป็นมนุษย์” ผ่านวิธี“สแกนม่านตา” โดยมี “โทเคน WLD” เป็นเหรียญประจำโปรเจกต์ World ID ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโปรเจกต์นี้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสำหรับการระบุตัวตนด้วยข้อมูลชีวภาพผ่านการสแกนม่านตา ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินและแยกแยะระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ได้ ในยุคที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนแทบแยกแยะไม่ออกระหว่างมนุษย์กับโรบอต
โดยผู้ใช้ Worldcoin ต้องรู้จักกับ 3 สิ่งสำคัญ คือ World ID ,World App และ โทเคน WLD
เริ่มต้นจากผู้ใช้ Worldcoin ต้องติดตั้งแอปและสแกนม่านตาด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “TheOrb” ลูกกลมๆสีเงินวาวสำหรับตรวจสอบความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้และความเป็นเอกลักษณ์ของม่านตา ซึ่งกระบวนการนี้ส่งผลให้เกิด “World ID” ที่ไม่ซ้ำกันสำหรับผู้ใช้แต่ละราย จากนั้นแต่ละ World ID จะถูกเพิ่มเข้าไปใน Worldcoin blockchain
ถัดมาคือ World App เป็นที่เก็บ World ID และทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินคริปโท แต่จุดประสงค์หลักคือเพื่อจัดเก็บข้อมูลประจำตัวของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถยืนยันตนเองในแอปพลิเคชันของบุคคลที่สาม
รวมทั้งยังสามารถเก็บ บิตคอยน์(Bitcoin), อีเธอเรียม(Ethereum) และ สเตเบิลคอยน์ USDC ซึ่งบริษัทกล่าวว่าจะรองรับเหรียญคริปโทมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ โทเคน WLD จะสามารถเข้าถึงได้ผ่าน การสร้าง World ID ในแอป World Appเท่านั้น
ตามรายงานของ Worldcoin จะมีการออกโทเคน WLD ทั้งหมด 1 หมื่นล้านเหรียญในช่วง 15 ปี และขณะนี้มี 143 ล้าน WLD กำลังหมุนเวียน ณ การเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และมีจำนวน 43 ล้านคนเป็นผู้ใช้ World App ที่ได้รับการยืนยัน
ไม่นานมานี้เหรียญดังกล่าวก็ได้ไปลิสต์ในกระดานเทรดคริปโทชั้นนำของโลกอย่าง Binance, OKX, Huobi, Bybit และ Gate.io รวมไปถึงกระดานเทรดอื่นๆ ยกเว้นกระดานเทรดในตลาดคริปโทสหรัฐ โดยผู้พัฒนาอ้างถึงข้อกังวลด้านกฎระเบียบในสหรัฐเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ
ในวันที่ 24 ก.ค 2566 ทางไบแนนซ์กระดานเทรดอันดับ 1 ของโลกลิสต์เหรียญ WLD เข้ามาด้วยราคาเปิดที่ระดับเพียง 0.15 ดอลลาร์ ก่อนที่เหรียญดังกล่าวจะถูกแรงซื้อจำนวนมาก ดันราคาเหรียญพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 5.29 ดอลลาร์อย่างรวดเร็ว คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 3,400% ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก่อนจะลงมาเคลื่อนไหวบริเวณ 2.5-2.6 ดอลลาร์ในเวลาต่อมา ซึ่งก็ยังคิดเป็นผลตอบแทนมากกว่า 1,600% และมีมูลค่าตลาดของเหรียญทั้งหมดอยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์
โดยแรงเก็งกำไรดังกล่าวคาดว่ามาจากความเชื่อมั่นในหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งเหรียญอย่างแซม ว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI และพัฒนาโปรเจกต์ ChatGPT จนประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์สำหรับเป้าหมายที่เกินจริงและวิธีการที่น่าสงสัย ทำให้ไม่นานหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำนักงานคณะกรรมาธิการสารสนเทศแห่งสหราชอาณาจักร (ICO) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านข้อมูลของอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความเสี่ยงในการประมวลผลข้อมูลไบโอเมตริกซ์และปัญหาเกี่ยวกับความยินยอมส่วนบุคคลในกระบวนการจัดการข้อมูล
วีตาลิค บูเจริน (Vitalik Buterin) นักพัฒนาในอุตสาหกรรมบล็อกเชนและคริปโท ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธิเรียม คริปโทอันดับ 2 ของโลก ได้เน้นย้ำถึงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น 4 ประการ ของโซลูชันการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนม่านตาของ Worldcoin โดยกล่าวถึง ความเป็นส่วนตัว , การเข้าถึง , การรวมศูนย์ , และความปลอดภัย เป็นความเสี่ยงหลักที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ระบบการยืนยันตัวตนแบบ Proof-of-Personhood (PoP) ของ Worldcoin
สำหรับข้อกังกล “ความเป็นส่วนตัว” เป็นไปได้ว่าการสแกนม่านตาอาจเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมด้านอื่น และเกี่ยวกับ “การเข้าถึง” โดยผู้ใช้จำเป็นต้องเข้าถึง Worldcoin Orb เพื่อเข้าร่วมโปรเจกต์ ถือเป็นการจำกัดการเข้าถึง เว้นแต่จะมีการสร้าง Orb มากพอเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลของการกระจายอำนาจของ Worldcoin ที่เอื้อประโยชน์ต่อใจกลางเมือง อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ Worldcoin ได้เพิ่มการยืนยันผ่านหมายเลขโทรศัพท์เป็นทางเลือกแทนอุปกรณ์ Orb
ความเสี่ยงประการที่สามคือ “การรวมศูนย์”ซึ่งความสมบูรณ์ของการสร้างอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ Orb ของ Worldcoin ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาด(แบ็คดอร์)ได้
และ “ความปลอดภัยของระบบ Worldcoin” อาจเป็นความเสี่ยงสำหรับ Buterinซึ่งการแฮ็กโทรศัพท์ , การถูกบังคับให้สแกนม่านตาจากคนอื่น , การขายหรือให้เช่า ID และ “fake people” ที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ใช้ในการหลอกสแกนหา World ID คือตัวอย่างของความเสี่ยงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนามองว่าหากโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จ ก็จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจได้อีกมากส่วนเหตุผลที่ต้องใช้การสแกนม่านตาก็เพราะลายนิ้วมือสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หน้าตาก็มีความเป็นไปได้ที่จะยืนยันตัวตนซ้ำ Private Key ซึ่งอาจสูญหายได้ ทำให้ม่านตาเป็นทางออกเดียวของการยืนยันตัวตนนี้