เปิดมุมมอง กูรูบล็อกเชน’ดิจิทัลวอลเล็ต’เป็นไปได้ยาก
หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ทำให้มีการออกสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ หรือ CBDC ซึ่งไทยเองก็มี “บาทดิจิทัล” เป็นตัวนำร่อง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธปท. และสอดคล้องกับการที่รัฐบาลได้ออกนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” บนบล็อกเชน
และเมื่อไม่นานมานี้ "ธนาคารกลางไนจีเรีย" ออกมายอมรับว่า เงินดิจิทัลล้มเหลวหลังเปิดตัวมาเกือบ 2 ปี เพื่อเป้าหมายกระตุ้นการใช้เงินและเศรษฐกิจดิจิทัล โดย Central Bank of Nigeria (CBN) ก็ออกมายอมรับว่า e-Naira เงิน CBDC นั้นล้มเหลว เพราะไม่สามารถชักจูงให้ประชาชนมาใช้ได้ หลังจากที่บังคับให้ประชาชนหันมาใช้เงินดิจิทัลด้วยการจำกัดปริมาณธนบัตร แต่ประชาชนไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้เงินดิจิทัล และหันไปใช้วิธีการ barter trade และใช้สกุลเงินต่างประเทศในการชำระเงินแทน
ถึงกระนั้นแล้วการใช้ “เงินดิจิทัล” ในประเทศไทยทั้งในรูปแบบของ “บาทดิจิทัล” และ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จะถูกนำมาใช้อย่างไร และสามารถผลักดันระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริงหรือไม่
ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจระบบงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงด้านการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องของ Digitalization (ดิจิทัลไลเซชั่น) ซึ่งมีความแตกต่างจากอีไนร่าของไนจีเรียอย่างมาก
กล่าวคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกันกับระบบการเงินไม่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยที่มีรากฐานในระบบการเงินที่แข็งแกร่ง จากการมีบัญชีธนาคารอยู่แล้วทำให้สามารถเข้าถึงดิจิทัลวอลเล็ตได้ง่าย รวมประชาชนพร้อมเปิดรับระบบการเงินใหม่ และคนไทยพร้อมใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลอย่างแน่นอน
สะท้อนจากการใช้ระบบพร้อมเพย์ตั้งแต่ปี 2561 ที่เปลี่ยนแปลงให้รูปแบบการทำธุรกรรมเป็นศูนย์ หรือไม่เสียค่าธรรมเนียมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเงินไทย เพราะหากมีต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน จะทำให้การรับรู้และเข้าถึงไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” สามารถทำให้คนจำนวน 48 ล้านคน เข้ามาเปิดบัญชีได้ และคาดการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในเชิงโครงสร้างของผู้ใช้บริการในประเทศได้ไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามถึงดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต คือ 1. เป็นการตั้งนโยบายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือระยะยาว 2.ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลจะต้องทำอย่างไร มีต้นทุนในการเข้าร่วมหรือไม่ 3. เมื่อประชาชนได้เงินแล้วมีวิธีใช้อย่างไร
สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในวงการบล็อกเชนไทย เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลเป็น “ดาบสองคม” ในแง่ของประโยชน์ของบล็อกเชนในการใช้งานมีมากมาย แต่หากนำเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และมีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง “รวดเร็ว” ในระยะเวลาที่จะถึงนี้
ทำให้การสร้างระบบด้วย “บล็อกเชน” อาจเป็นไปได้ยาก และไม่ตอบโจทย์ แต่หากในมุมมองระยะยาวการใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ถือว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่ดีในการประยุกต์ใช้ทำให้คนไทยเข้าถึงอิสราภาพทางการเงินด้านดิจิทัล โดยที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีศักยภาพและมีสเถียรภาพสูงเป็นสิ่งแรก
ปัจจุบันบล็อกเชนถูกใช้เป็นหนึ่งในช่องทางของ "สแกม" หรือ การหลอกลวงมากขึ้น จากการที่ไม่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนทำให้ไม่สามารถติดตามบัญชีปลายทางในการทำธุรกรรมที่มีเพียงเลขกระเป๋าเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นช่องว่างในที่ทำให้ถูกหลอกลวงได้ ทำให้ต้องเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนให้กับประชาชนด้วย หากจะนำมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในอนาคต
อดิรุจ นิธิเลิศวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท 100 เอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด สตาร์ทอัปที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอร์ฟแวร์บนบล็อกเชน กล่าวว่า รัฐบาลมีความกล้าในการทำนโยบาลดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีสำหรับมุมมองระยะยาวเพื่ออนาคตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีในการเริ่มต้นใช้งาน เพราะถ้าหากจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ณ วันนี้ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมากจากจำนวนคนมากกว่า 10 ล้านคนนั้นเป็นไปไม่ได้
โดยมองว่าควรเริ่มใช้ดิจิทัลวอลเล็ตในวงจำกัด คล้ายกับประเทศเกาหลีที่มีการเริ่มทดดลองใช้ระบบบล็อกเชนภายในแซนบ็อกในหนึ่งจังหวัดเล็กๆ ซึ่งคิดเป็น 5% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดในประเทศ และอีก 95% อาจเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะสามารถทำให้รัฐบาลพัฒนาไปสู่การใช้งานที่คลอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างมีสเถียรภาพ