CBDC อนาคตใหม่’การเงิน’ เพิ่มความโปร่งใส-ไร้ตัวกลาง
ทิศทางของโลก ”การเงิน” และ ”เทคโนโลยี” ถูกพัฒนาเพื่อเป็นโครงสร้างสำคัญสำหรับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่อาจปฏิวัติรูปแบบการเงินดั้งเดิมได้ รวมทั้งการมาของ”คริปโทเคอร์เรนซี่” ที่รวดเร็วจนน่ากลัว ทำให้ภาครัฐมีความกังวัลถึงความปลอดภัยต่อระบบเศรษฐกิจในหลายด้าน
จึงสร้าง”สกุลเงินแห่งชาติ”เพื่อเป็นบรรทัดฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในการดูแลของรัฐและกลายเป็น“ยุทธศาสตร์”ที่สำคัญ ในการกำหนดนโยบายของเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก
98% ของ GDP กำลังพัฒนา CBDC
รายงานจาก Atlantic Council องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเผยว่า ขณะนี้มี 130 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 98% ของ GDP โลกที่มีการศึกษาและพัฒนา CBDC และ 19 ประเทศในกลุ่ม G20 อยู่ในการพัฒนา CBDC ขั้นสูง และปัจจุบันมีประชากรถึง 260 ล้านคน ที่กําลังทดสอบการใช้ CBDC ในกว่า 200 สถานการณ์ เช่นระบบขนส่งสาธารณะ การจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และอีคอมเมิร์ซ
เมื่อ “CBDC” เกิดขึ้นจะสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน ซึ่งอนาคต CBDC ที่ไม่ว่าจะใช้ระบบการควบคุมแบบใด ผลลัพท์ที่ได้คือ “ความโปร่งใส” ของระบบการเงิน เหมือนกับประเทศจีนที่รูปแบบการใช้ “หยวนดิจิทัล”(E-CNY) สะท้อนออกมาได้ชัดเจนคือ เป็นเครื่องมือและการเปลี่ยนแปลงที่ล้างบางธุรกิจสีเทา ซึ่งในอนาคตจะสามารถขจัดปัญหาเงินที่หายไปจากระบบได้
ทั้งนี้นักวิเคราะห์สะท้อนความเห็นว่า “บาทดิจิทัล”สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหานโยบายทาง "การเงินและการคลัง" ของประเทศไทยได้ และลดปัญหา“เงินเฟ้อ”
จากประโยชน์ของการใช้สกุลเงินดิจิทัล 4 ประการด้วยกัน คือ 1.การสะท้อนความเคลื่อนไหวของ “เงิน” ในระบบทั้งหมด 2.นำข้อมูลความจริงไปใช้สำหรับการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายได้แม่นยำมากขึ้น และ 3.สามารถเรียกเก็บภาษีได้ตรงตามความเป็นจริง รวมทั้ง 4.ลดการธุรจริตคอร์รัปชั่นในการยักยอกเงินให้หายไปจากระบบเศรษฐกิจ
นั่นอาจเป็นผลพลอยได้ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดคือ การสะท้อนรายได้และรายจ่ายของประเทศ ต่อการเรียกเก็บภาษีจะตรงตามความจริงที่มีผลต่อนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลัง ในการบริหารเงินและทราบปริมาณเงินที่ใช้ในระบบสู่การกำหนดกลไกลดอกเบี้ย เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ
จีนขึ้นแท่นผู้นำการพัฒนา CBDC
ถ้าในอนาคตประเทศไทยเลือกใช้บาทดิจิทัลเป็นรูปแบบการเงินหลัก จะต้องมีขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเงินที่ปัจจุบันเป็นเหรียญและธนบัตรมาสู่บาทดิจิทัล ซึ่งขั้นตอนนี้“ไม่ง่าย” ทำให้เราต้องถอดบทเรียนจากประเทศจีน ผู้นำการพัฒนาหยวยดิจิทัลที่ล้ำหน้าเช่นจีน
อี้ แกงค์ ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน เปิดเผยยอดการทำธุรกรรมโดยใช้เงินหยวนดิจิทัลของจีนในครึ่งปีแรก มีตัวเลขแตะ 1.8 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 2.49 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกว่า 100 พันล้านหยวน ณ เดือนส.ค.ปี 2565 โดยมีการเปิดกระเป๋าเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 120 ล้านใบ แม้จะมีตัวเลขที่มหาศาลแต่เงินหมุนเวียนจากหยวนดิจิทัล คิดเป็นเพียง 0.16% ของปริมาณเงินสดหมุนเวียนในทั้งหมดของประเทศเท่านั้น
ดังนั้นประเทศใดที่สามารถพัฒนา CBDC ได้สำเร็จและใช้อย่างแพร่หลายเป็นประเทศแรกจะมีความได้เปรียบเชิงการกำหนดทิศทางตลาดและแนวโน้มธุรกิจในอนาคต (first-mover advantage) โดยจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบในการเชื่อมโยง CBDC ระหว่างประเทศ ซึ่งจีนมีการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ
แบงก์ชาติ ลุยพัฒนา “บาทดิจิทัล”
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหนึ่งในธนาคารกลางลำดับแรกๆที่มีการพัฒนา CBDC หรือ “สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ”ในรูปแบบ “บาทดิจิทัล” ก้าวหน้า ทั้งแบบ Wholesale ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน และ Retail CBDC ในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าถึงกระบวนการในการทดสอบและทดลองการใช้งาน CBDC ในปัจจุบันว่า การพัฒนา Wholesale CBDC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้งานจริง และคาดว่าจะพัฒนาให้ถูกนำมาใช้เร็วกว่า Retail CBDC การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน ที่ยังไม่มีแผนใช้งานจริงในเร็วๆนี้ เพราะจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้มีข้อมผิดพลาดน้อยที่สุด
ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ CBDC ทั้ง 2 แบบ ทั้ง Wholesale และRetail ในฝั่งของ Wholesale เป็นการทดสอบการโอนเงินระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล
โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ภายใต้ชื่อโครงการว่า "อินทนนท์" ในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่เป็นรากฐานสำคัญให้ ธปท. พัฒนา CBDC อย่างต่อเนื่องและมีการต่อยอดเป็นหลายโครงการในปัจจุบัน ในโครงการ mBridge หรือ “Multiple Currency CBDC Bridge” เป็นการพัฒนา Wholesale CDBC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ
โดยเป็นการศึกษาร่วมกับ ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ณ เมืองฮ่องกง
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักวินาที เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในระบบปัจจุบันซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน อย่างไรก็ตาม การโอนเงินระหว่างประเทศเป็นโจทย์ที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาให้เกิดการใช้งานจริง ทั้งการทดสอบระบบการทำงาน
สำหรับ CBDC รายย่อยถูกออกแบบมาเพื่อประชาชนทั่วไป และใกล้เคียงกับธนบัตรมากที่สุด มีการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้สามารถชำระเงินได้ทุกร้านและทุกระบบ สามารถโอนเงินได้อย่างไรข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็น อีมันนี่ พร้อมเพย์ หรือนอนแบงก์
กษิดิศ ตันสงวน ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายว่ากลุ่มทดสอบในวงจำกัดจำนวน 1 หมื่นคน จะต้องทำการทดสอบผ่านแอปพลิเคชัน CBDC วอลเล็ต ผูกกับบัญชีธนาคารเพื่อนำเงินฝากในบัญชีแลกเปลี่ยนเป็น CBDC ซึ่งมีการทดสอบร่วม 3 แห่งในวงจำกัดได้แก่ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงิน 2C2P ได้มีการทดสอบตั้งแต่ปลายปี 65 ในวงเล็กๆ สู่การขยายกว้างมากขึ้น
การทดสอบ Retail มีการพัฒนา 2 ขั้น คือ การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) การทดสอบ โอน จ่าย เบิก ถอน และอินโนเวชันแทร็ก ในการพัฒนาโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความสเถียร และมองถึงการพัฒนาในอนาคตว่าสามารถหยิบ CBDC ไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายในอนาคตได้ผ่าน การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ที่เปิดให้ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ "CBDC Hackathon"
แบงก์ชาติย้ำว่า CBDC ไม่ใช่เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่ออกโดยธนาคารกลาง เนื่องจากมีการอ้างอิงมูลค่าเท่ากับสกุลบาทด้วยมูลค่าที่แท้จริง
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือ การเชื่อมโยงระหว่างระบบ CBDC ของแต่ละประเทศ และกลุ่มความร่วมมือที่มีการกำหนดกฎระเบียบที่แตกต่างกัน รวมถึงประเด็นความห่วงกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยการใช้ CBDC อยู่บนพื้นฐานของระบบบล็อกเชนและการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง