ธุรกิจ ‘คัสโตเดียน วอลเล็ต’ ไทยหนุน 'เชื่อมั่น' ตลาดคริปโท ปลอดภัย

ธุรกิจ ‘คัสโตเดียน วอลเล็ต’ ไทยหนุน 'เชื่อมั่น' ตลาดคริปโท ปลอดภัย

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี "ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล" ที่รับฝาก "สินทรัพย์ดิจิทัล" (Digital Asset custodial wallet provider) หรือเรียกสั้นๆ ได้ว่าผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodian)

 Keypoint:

  •  ก.ล.ต.แจ้งเกิดใบอนุญาต custodial wallet provider ผู้ประกอบธุรกิจต้องเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ใน cold wallet ไม่น้อยกว่า 80%
  • ออร์บิกซ์ คัสโทเดียน บริษัทลูก KBank รายแรกที่ยื่นขอใบอนุญาต      
  • เอื้อธุรกิจคริปโทไทย ลดต้นทุนธุรกรรมต่ำกว่าคัสโตเดียนต่างประเทศ และลดภาระการจัดเก็บเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ NC Reserve น้อยลง 

ตามกฎหมายการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไว้ใน cold wallet ของผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ “third-party custodian” ไม่น้อยกว่า 80% และจัดเก็บไว้ใน hot wallet และ cold wallet ของผู้ประกอบธุรกิจเองได้ประเภทละไม่เกิน 10%

    ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย อย่างบรรดาเว็บเทรดคริปโท ต้องนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าส่วนใหญ่ ไปฝากไว้กับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (third-party custodian) ในต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ และมีหน่วยงานกำกับ

สอดคล้องกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดทำแนวนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลภาพรวม และได้เสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งครอบคลุมการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์การยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider) ให้มีความยืดหยุ่น และเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้มีผู้สนใจให้บริการเป็น custodial ในประเทศที่มีคุณภาพ และลูกค้าที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศ คาดจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้เกี่ยวข้องต่อไป

    ล่าสุด บริษัท orbix CUSTODIAN (ออร์บิกซ์ คัสโทเดียน) ถือเป็นรายแรกที่ยื่นขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต และอยู่ระหว่างการอนุมัติ ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้บริษัท ยูนิต้า แคปิทัล จำกัด (Unita Capital)  ที่เป็นบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

 ธนศักดิ์ กฤษณะเศรณี รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย หลายแห่ง รวมทั้งเอ็กซ์ปริงใช้บริการ custodial wallet ในต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งปัญหาที่ยังมีความแตกต่างคือ เวลาในการดำเนินงานต่างกันไปตามไทม์โซน ถ้าหากว่าประเทศไทยมี custodial wallet provider อาจเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ แต่ที่ต้องคำนึงถึงคือ ธุรกิจนี้จะต้องใช้ต้นทุนในการทำธุรกิจค่อนข้างมาก การที่จะให้บริการแก่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศที่ถือว่ายังไม่ได้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก จะมีความคุ้มค่ามากแค่ไหน

     ปกเขตร รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด เปิดเผยว่า ในประเทศไทยเพิ่งออกใบอนุญาต Custodain wallet ให้หลายธุรกิจที่มีความสนใจเข้ามา เริ่มยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งก.ล.ต. เริ่มมีการเฮียริ่งว่าถ้าเกิดธุรกิจนี้ในประเทศไทย จะเกิดผลดีต่อธุรกิจสินทรัพย์ในประเทศอย่างไรบ้าง ซึ่ง 2 ประเด็นที่มองเห็นคือ 

    1.การจัดเก็บเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital) หรือ NC Reserve น้อยลง เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ถ้าหากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยจัดเก็บสินทรัพย์ของลูกค้าอยู่ใน  Custodain wallet ในประเทศไทยอาจต้องจัดเก็บ NC Reserve น้อยลง เป็น 2% หรือ 1.5% จากปกติทุกบริษัทจะต้องมีเงินกองทุนสำรองขั้นต่ำ เช่น หากมีสินทรัพย์ของลูกค้า 1 หมื่นล้านบาท จะต้องมีเงินกองทุนสำรอง 4% ซึ่งจะเป็นภาระน้อยลงในการจัดเก็บเงินสำรองของธุรกิจ

     หากพูดถึงในความเป็นจริงว่าเพียงพอต่อการรับมีกับปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นเหมือนในเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือไม่ คำตอบคือ อาจไม่เพียงพอ แต่จุดสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินกองทุนสำรอง NC Rserve แต่เป็นการสร้างความมั่นใจว่าสินทรัพย์ลูกค้าไปอยู่ในที่ปลอดภัย และการไม่นำสินทรัพย์ลูกค้าไปหาประโยชน์อื่นใด ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีการเก็บสินทรัพย์ลูกค้าไว้ใน Hot wallet 10% ใน Cold Wallet 90% และต้องมีการรีบาลานซ์ทุกๆ สิ้นวัน เพื่อความปลอดภัย

      2.ต้นทุนในการทำธุรกรรมที่อาจต่ำกว่าต่างประเทศ โดยทั่วไปการฝากสินทรัพย์ไว้กับ  Custodain wallet จะต้องเสียฟีหรือค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมได้ 2 แบบคือ 1.คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนของ AUM สินทรัพย์ทั้งหมดที่เอามาฝาก และ 2.ค่าธรรมการโยกย้ายเข้าออกในแต่ละครั้ง สิ่งที่น่าจับตามองคือ ผู้ให้บริการ Custodain wallet  ในไทยจะให้ราคาค่าธรรมเนียมที่แตกต่างจากต่างประเทศมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจเนื่องจากอยู่ในประเทศ และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลความเสี่ยงของ ก.ล.ต.ด้วย

      สำหรับธุรกิจผู้ให้บริการ Custodain wallet ถือว่ามีผู้นำอยู่ในอาเซียน นั่นคือ ในสิงคโปร์ และฮ่องกงที่ตอนนี้ให้บริการหลายเจ้าทั่วโลก หากเทียบขนาดธุรกิจ Custodain wallet ของไทยที่เกิดขึ้นในอนาคตถือว่า “ยาก” ที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ แต่ถ้าหากไทยสามารถดึงดูดลูกค้าในต่างประเทศเข้ามาฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยได้มั้ย เป็นเรื่องที่ต้องรอดูในอนาคต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์