อย่าหลงใหลคริปโทเพราะ 'บิตคอยน์' 5 บทเรียนสำคัญในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล
"บิตคอยน์" จุดกระแสตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนหน้าเก่าและหน้าใหม่ จากคนที่สนใจราคาและพื้นฐานของสกุลเงินดิจิทัล แต่ตลาดคริปโทมีอะไรมากกว่าบิตคอยน์ "เงินแห่งอนาคต" จะน่าเชื่อถือแค่ไหน ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะสร้างบทเรียนทั้งดีและไม่ดี
KEY
POINTS
- รวม 5 บทเรียนสำคัญของตลาดคริปโท ที่จะทำให้คุณรู้จักตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น
-
บิตคอยน์ ไม่ใช่สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ดีๆ ก็มีมูลค่า 2 ล้านบาท เคยมีมูลค่าแค่0.10 บาท
-
คริปโท มีทั้งของจริงและของปลอม กับกฏระเบียบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาความสมดุล
-
3เหตุการณ์ฟองสบู่คริปโท สู่ผลกระทบเรื่องความปลอดภัยที่แลกมาด้วยความสูญเสียมูลค่ามหาศาล
ทว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ย่อมใช้เวลา และการทดลองสิ่งใหม่ เพื่อนำไปสู่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิด"บทเรียน" และจุดนี้เองที่ทำให้ตลาดคริปโทมีขนาดใหญ่ขึ้นในทุกๆไซเคิล ที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยประมาณ ซึ่งผันแปรไปตามบิตคอยน์
สิ่งที่ทำให้องค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและการเงิน โลกใหม่และโลกเก่ามารวมตัวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น CBDC NFT เมตาเวิร์ส บล็อกเชน DeFi GamFi โทเคนไนซ์เซชัน และสิ่งต่างๆอีกมากมาย วันนี้กรุงเทพธุรกิจ รวบรวม 5 บทเรียนสำคัญของตลาดคริปโท ที่จะทำให้คุณรู้จักตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ก่อนที่จะ"เชื่อ" ในศักยภาพ
1.บิตคอยน์ ไม่ใช่สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ดีๆ ก็มีมูลค่า 2 ล้านบาท
ณ วันนี้ บิตคอยน์มีอายุประมาณ 14 ปี หลังจากเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 คำว่า "บิตคอยน์" ปรากฏในเอกสารไวท์เปเปอร์ "Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System"
และ 3 มกราคม 2552 บล็อกแรกของบิตคอยน์ ("บล็อกเจเนซิส") ได้ถูกขุดขึ้น
โดยบิตคอยน์มีกลไกการลด"เงินเฟ้อ" ด้วย Bitcoin Halving จากสถิติแล้ว ราคา Bitcoin มักจะ พุ่งสูงขึ้น หลังจาก Halving โดยสาเหตุเพราะว่า อุปทาน Bitcoin ใหม่ลดลงแต่ ความต้องการ Bitcoin เพิ่มขึ้น จึงส่งผลต่อราคา
บิตคอยน์เคยมีมูลค่าแค่ 0.10 บาท
แต่จุดเริ่มต้นของบิตคอยน์จริงๆ ตั้งแต่2551 ในไวท์เปเปอร์ไม่ได้บอกวิธีใช้แต่บอกคุณประโยชน์ของมัน ทำให้การแลกเปลี่ยน Bitcoin ในช่วงแรกเกิดขึ้นผ่านเว็บบอร์ดและห้องสนทนาออนไลน์ โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยน จากข้อมูลพบว่าในเดือนตุลาคม 2551 มีการแลกเปลี่ยน Bitcoin ครั้งแรก โดยใช้ Bitcoin 10,000 BTC หรือถ้าคิกมูลค่าตอนนี้ก็ราวๆ 2 หมื่นล้านบาท แลกกับพิซซ่า 2 ถาด มูลค่าประมาณ 1,200 บาทในปัจจุบัน
และการกำหนดราคา Bitcoin อย่างจริงจัง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2553 โดยใช้ดัชนี Mt. Gox Bitcoin Price Index บนเว็บเทรด Mt. Gox ราคา Bitcoin ในช่วงแรกเริ่มอยู่ที่ $0.003 หรือประมาณ 0.10 บาทเท่านั้น
เมื่อคนเริ่มรู้จักและเริ่มสนใจศึกษาสิ่งที่เรียกว่าบิตคอยน์ ก็เกิดกลุ่มคน 2 แบบ คือ 1.เข้าใจว่าบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์เสี่ยง มองเห็นการผันผวนขึ้นลงของราคา เข้ามาศึกษาเพราะต้องการเก็งกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ 2.Bitcoin Maximalism เป็นอุดมการณ์ที่เชื่อว่า Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลเพียงหนึ่งเดียวที่มีคุณค่าแท้จริง คือเชื่อในพื้นฐานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน
ราคาบิตคอยน์ไต่รับดับขึ้นทุกครั้งเมื่อผ่านพ้นการ Halving หลังจากผ่านจุดสูงสุดของแต่ระรอบไปแล้ว ราคาบิตคอยน์ก็จะไซด์เวย์และเข้าสู่ขาลง ก่อนจะพลิกตัวกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง วนเวียนอยู่แบบนี้
2.วัฎจักรของตลาดคริปโท
ฟังดูแล้วยังไงๆ ราคาบิตคอยน์ก็คงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา แต่อย่าลืมว่า สติถิของบิตคอยน์เพิ่งมีอายุได้ 10 กว่าปีเท่านั้น และการ Halving เพิ่งเกิดมาได้แค่ 3 ครั้ง เราจะเชื่อในสถิติไดยังไง
อย่างไรก็ตาม “ปกเขตร รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด หรือกระดานเทรด MAXBIT มองว่าตลาดคริปโทก็มีวัฎจักรแบบเดียวกับทุกตลาด เพียงแค่มันสั้นกว่าเท่านั้นเอง และเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่เชื่อใน “สถิติ” แม้ว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่มาก มีอายุเพียงแค่ 10 กว่าปี เมื่อเทียบกับทองคำ และสินทรัพย์ดั้งเดิมอื่นๆ ที่มีอายุกว่า 100 ปี
ในทางกลับกันปรากฎการณ์ Bitcoin Having ในปีหน้าจะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่า Bull Bear Cycle ของตลาดคริปโทที่จะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 4 ปี ที่จะมีการปรับตัวลดลงและทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ในปี 2567 หรือไม่ และมองว่าในขาขึ้นครั้งถัดไปตลาดคริปโทจะมีความหวือหวาน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา
3.คริปโท มีทั้งของจริงและของปลอม
ตลาดคริปโทฯ ทุกวันนี้ยังมี “ของปลอม” อยู่เยอะ และในทุกๆไซเคิลของคริปโทฯ มีเหรียญใหม่ที่เกิดขึ้นและหายไป ซึ่งทุกเหรียญมีความเสี่ยง ทุกอัลคอยน์มีความเสี่ยง แต่บิตคอยน์และอีเธอเรี่ยมมีความเสี่ยงน้อยกว่า
ในขณะเดียวกันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่อัลคอยน์เท่านั้น นายชานน จรัสสุทธิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Forward ... (ฟอร์เวิร์ด แล็บ) บริษัทเทค สตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน มองว่าสิ่งที่มีวิวัฒนาการตามไปแบบติด คือ "กลลวงในตลาดคริปโท" ในรูปแบบต่างๆที่คนให้ความสนใจ
โดยเมื่อ 2 ปี ก่อน ในช่วงที่ตลาดคริปโทบูม กรุงเทพธุรกิจเคยนำเสนอแชร์ลูกโซ่ที่บังหน้าด้วย ชื่อว่า MetFi เป็นโปรเจคNFT ที่เน้นลงทุนใน Web3.0 และ Metaverse ซึ่งเจ้าของโปรเจคอ้างว่าสามารถสร้างรายได้ได้ถึง 1,000% รวมทั้งการันตีผลตอบแทนคงที่แต่จะต้องถือโทเคน หรือสเตกโทเคน MFT ที่มีมูลค่าประมาณเหรียญละ 8,000 ดอลลาร์ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ ซึ่งลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนน้อย ลงทุนมากได้ผลตอบแทนมาก การให้ผลตอบแทนที่สูงในลักษณะนี้โดยที่ต้องหาผู้ลงทุนใหม่เติมเข้ามาเรื่อยๆ ดูไปแล้วคล้ายกับกลยุทธ์ของ “แชร์ลูกโซ่”
นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทคริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด หรือ Cryptomind เปิดเผยว่า แชร์ลูกโซ่ มีรูปแบบการนำเอาดิจิทัลแอสเสทเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง “MetFi” มีโอกาสสูงมากที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ จากผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งในตลาดคริปโทก็มี “Crypto Scam” เกิดขึ้นอยู่เสมอ
4.คริปโท การเงินแห่งอนาคต?
ตอนนี้ในโลกของคริปโท ไม่ได้มีเพียงแค่บิตคอยน์อีกต่อไป เพราะบิตคอยน์นำพาให้อีโคซิสเต็มทุกอย่างเกิดขึ้น รวมทั้งธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในแต่ละวัฎจักร มาพร้อมกับการล่มสลาย นำไปสู่การอุดรูรั่ว ให้ตลาดคริปโทดีขึ้นในทุกด้าน ให้พร้อมต่อพื้นฐานของดิจิทัลไฟแนนซ์ แต่ธุรกิจคริปโทต้องเกิดปัญหาในทุกๆไซเคิล และคำถามที่ว่า ปลอยภัย แค่ไหน?
- ฟองสบู่ Mt. Gox
เหตุการณ์ Mt. Gox คือ การล่มสลายของเว็บเทรด Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2557 บทเรียนสำคัญสำหรับนักลงทุน Bitcoin เกี่ยวกับความเสี่ยงและความสำคัญของการเลือกเว็บเทรดที่ปลอดภัย
เหตุการณ์นี้ยังกระตุ้นให้มีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับ Bitcoin ลากราคา Bitcoin ลดลงจาก 32 ดอลลาร์ ลงไปเหลือ 0.05 ดอลลาร์
- การแฮก Coincheck
ปี 2561 Coincheck ถูกแฮก เป็นการปล้นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเว็บเทรดคริปโท แฮ็กเกอร์สามารถเข้าถึงกระเป๋าเงิน NEM ของ Coincheck ผ่านช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
และโอนเหรียญ NEM ไปยังบัญชีของตัวเอง จำนวนกว่า 500 ล้านเหรียญ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 530 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1.6 หมื่นล้านบาท เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเว็บเทรดคริปโทเคอร์เรนซี
- การล่มสลายของ Terra/Luna
Terra/Luna เป็นระบบนิเวศบล็อกเชนที่มีเหรียญหลักสองเหรียญ ได้แก่
TerraUSD (UST): เหรียญ Stablecoin ที่ตรึงมูลค่าไว้กับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
Luna: เหรียญที่ใช้สำหรับ staking และรักษาระดับราคาของ UST
กลไกการรักษามูลค่าของ UST นั้นซับซ้อนและมีความเสี่ยง ขณะเดียวกัน Terraform Labs กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อซื้อ UST ทำให้ในปี 2565 เกิด panic sell ในตลาด และราคา UST หลุด peg จาก 1 ดอลลาร์ และเกิดเกิดแรงเทขาย UST และ Luna อย่างหนัก
จนทำให้ราคา Luna ร่วงลงจาก 119 ดอลลาร์ เหลือ 0.000001 ดอลลาร์ แม้ว่า Terraform Labs บริษัทผู้พัฒนา Terra/Luna พยายามแก้ไขสถานการณ์ แต่ไม่สำเร็จ จนท้ายที่สุดนักลงทุนสูญเสียเงินจำนวนมาก และ Terra/Luna สูญเสียความน่าเชื่อถือ
และหลายๆครั้งที่ธุรกิจคริปโทพยายามย้ำถึงความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
5.กฎหมาย กรอบการกำกับดูแล
สิ่งใหม่ที่ดูไม่ปลอดภัย ยิ่งต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแล ตอนนี้กฎหมายคริปโทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ละประเทศมีกฎหมายที่แตกต่างกัน บางประเทศห้ามคริปโท บางประเทศอนุญาตให้ใช้คริปโท แต่มีข้อจำกัด บางประเทศกำลังพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับคริปโท
- สหรัฐอเมริกา
กลต. สหรัฐฯ กำกับดูแลคริปโทบางส่วน และกำลังพัฒนากฎหมายเพิ่มเติม เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 คณะกรรมการบริการทางการเงินของสภา (HFSC) ได้อนุมัติการเสนอกฎหมายเพื่อการพิจารณาในสภาที่เกี่ยวกับการควบคุมเมื่อเดือนที่แล้ว กฎหมาย 4 ฉบับ คือ การกำกับดูแล, การชำระเงินด้วย Stablecoin, การกำกับดูแลเทคโนโลยี Blockchain, การรับฝากสินทรัพย์
- จีน
ห้ามการซื้อขายคริปโท แต่กำลังพัฒนาระบบ CBDC ของตัวเอง ซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆการพัฒนาอยู่ในขึ้นทดลองใช้จริง
- ไทย
มีกฎหมายรองรับคริปโท สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑
เรียกว่ากฎหมายคริปโทของไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา เพราะก.ล.ต. กำลังศึกษาแนวทางกฎหมายรองรับเพิ่มเติม และธปท.เองก็กำลังศึกษา CBDC (Central Bank Digital Currency)