ก.ล.ต. ปิดกั้นเอ็กซ์เชนจ์นอก ‘ปกป้องนักลงทุน’ หรือ ’เปิดช่องให้มิจฉาชีพ’ ?
จากประเด็นร้อน ก.ล.ต.ปิดกั้นเอ็กซ์เชนจ์นอก ป้องกันมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทา
งในการ "ฟอกเงิน" หรือเปิดช่องให้มิจฉาชีพเข้ามาฉวยโอกาสหลอกนักลงทุน?
จากประเด็นร้อนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกข่าวประชาสัมพันธ์ “ประสานหน่วยงานภาครัฐปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต” โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้..
“ปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีเวลาบริหารจัดการบัญชีก่อนที่จะไม่สามารถใช้บริการได้”
"ก.ล.ต. ขอเตือนประชาชน และผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง (scam) รวมถึงความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน”
นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทย บิทแคสต์ จำกัด มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากการประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเมื่อวันที่ 19 เมษายน มีมติให้ ก.ล.ต. จำเป็นต้องส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ซึ่งในข่าวประชาสัมพันธ์มีเพียง Binance และ Bybit ซึ่งเชื่อว่ายังมีผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลมีมากกว่าที่แจ้งไว้ โดยทั้ง Binance และ Bybit เคยมีกรณีกับ ก.ล.ต. ทั้งคู่
เข้าใจว่า ก.ล.ต. พยายามที่จะเตือนนักลงทุน ก็ต้องขอชื่นชมในกระบวนการทำงาน แต่ก็มีหลายมุมที่กระทบต่อความรู้สึกนักลงทุนที่ออกมาต่อต้าน
สืบเนื่องจากในอดีต กรณี Zipmex ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต มีปัญหา และยังไม่คลี่คลาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ก.ล.ต. ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ส่วนตัวก็อยากให้เข้าใจนักลงทุนเห็นใจ ก.ล.ต. ว่าเรื่องในอดีตที่ต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข ส่วนเรื่องในอนาคตที่ต้องป้องกันก็ต้องหาทางป้องกัน ไม่ให้ ก.ล.ต. ทำอะไรเลยคงไม่ได้
ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปิดกั้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปิดกั้นดังกล่าว และในเอกสารของ ก.ล.ต. ควรแยกเรื่อง ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์ม และการฟอกเงินออกจากกัน และมองว่าขอบเขต และอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. คือผู้ที่ออกใบอนุญาตให้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ในประเทศไทย
โดยกรณีนี้ตรงกับขอบเขตอำนาจในการกล่าวถึงเรื่องการฟอกเงิน มองว่ายังไม่ถูกตัวถูกฝาสักเท่าไร แต่ก็เข้าใจว่าเป็นบทบาทและหน้าที่ของ ก.ล.ต. ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามมติ
"ส่วนตัวมองว่าการดำเนินการเรื่องหนึ่งเพื่อผลลัพธ์สองวัตถุประสงค์ถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกันจริงๆ มันจะสื่อสารออกมาได้ยาก และเห็นว่ากระบวนการนี้ตอบแค่เรื่องเดียวคือเรื่องบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าห้ามไม่ได้จริง ทำได้แค่เพียงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์หรือพูดง่ายๆ คือแค่ตีตราว่าเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เถื่อนนั่นเอง"
ทั้งนี้ การปิดกั้นเว็บ Exchange นอกมีเหตุผลตามที่ ก.ล.ต. แจ้งไว้คือ จะช่วยลดปัญหามิจฉาชีพ มองว่ายังไม่มีงานวิจัยที่มีข้อมูลออกมาเป็นตัวเลขที่จะมายืนยันได้ ซึ่งความเป็นจริงคนที่คิดจะฟอกเงิน การปิดกั้นไม่สามารถจัดการได้จากการปิดกั้น 2 แบรนด์นี้
โดยคาดว่าจะมีกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ “มิจฉาชีพ” ที่จะใช้จังหวะนี้แทรกเข้าไปในกลุ่มคนที่กำลังเดือดเนื้อร้อนใจกับการที่จะต้องโอนย้าย สติในการที่จะคิดก็น้อยลง ใครมาชักชวนอะไรก็จะง่ายขึ้น
หากปิดกั้น 2 แบรนด์นี้ Exchange ไทยจะได้ประโยชน์??
เหตุผลนี้ผมก็เห็นต่าง เนื่องจาก Feature หรือ Function ของ Exchange ไทย ไม่ตอบโจทย์ ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นแทนก็คือ คนจะย้ายไป Exchange นอก ที่มี Feature คล้ายๆ กันและไม่โดนปิดกั้น ส่วน Exchange ไทยก็จะได้หน้าใหม่ซึ่งต่อให้ไม่มีเรื่องนี้ก็จะได้หน้าใหม่อยู่แล้ว แนวทางการแก้ปัญหาคือ หากมองว่า P2P เป็นช่องทางที่มีการฟอกเงิน ก็ควรจะแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นที่ P2P เพราะการปิดกั้น ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเลือกซื้อขายในช่องทางที่มีสภาพคล่องที่สูงกับคนที่ไม่ได้ทำผิดอะไร
ผมเชื่อว่าภาครัฐพยายามที่จะปกป้องนักลงทุนโดนการปิดกั้นไม่ให้เจอ Scam แต่ความเป็นจริงเราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งสำคัญคือ การให้ความรู้ ให้ข้อมูลความเสี่ยง เพราะพวกที่เป็น Scam เปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา การปิดกั้นจะทำให้นักลงทุนตามไม่ทันรูปแบบของการหลอกลวงของเหล่า Scamer แนะนำการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเริ่มด้วยการเปิดใจคุยกัน และภาครัฐต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากคนในอุตสาหกรรม ช่วยกันสอดส่อง ดูแลและป้องกัน
VPN คือคำตอบจริงหรือไม่??
VPN ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการปิดกั้นให้กับนักลงทุน แต่ตัว VPN เองก็มีความเสี่ยงหากถูกผู้ประกอบการดักข้อมูล วิธีแก้ในระยะยาวมันเป็นเรื่องของวิธีคิดของคนในยุคปัจจุบันในโลกอินเทอร์เน็ตที่เราต้องปลูกฝังให้ทุกคนรู้ว่า เราไม่สามารถไว้ใจใครได้ 100% แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแล แต่ก็อาจดูแลได้ไม่ครอบคลุมทุกคน ทุกเรื่อง
โดยพื้นฐานคือ ทุกคนจะต้องพึ่งพาตัวเอง หาวิธีที่จะยืนยันให้ได้ว่าสิ่งที่เราคิดเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะในโลกของอินเทอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นมาได้ทุกอย่าง ทุกคนจึงควรมีทักษะเรื่อง Cyber Security เข้าใจเรื่องการยืนยันตัวตน เข้าใจเรื่อง Private Key เพื่อที่จะเอาตัวรอด และปกป้องจาก Scam ในอินเทอร์เน็ต สำคัญที่สุดคือต้องมีความตระหนักรู้ มีสติในโลกของ Cyber
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์