ก.ล.ต.เฮียริ่งเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม รองรับอุตสาหกรรม soft power ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (shelf filing) รองรับการระดมทุนของอุตสาหกรรม soft power ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (shelf filing) และการปรับปรุงสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยเพื่อเพิ่มทางเลือก รองรับการระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (soft power) ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกเสนอขายที่ชัดเจนและผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน
ด้วยปัจจุบันมีเอกชนสนใจออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในลักษณะโครงการที่มีทรัพย์สินอ้างอิงหรือทรัพย์สินที่ลงทุนในลักษณะหรือประเภทเดียวกัน เช่น เพลง ละคร สื่อบันเทิง ซึ่งอาจทยอยออกเป็นแต่ละชิ้นหรือแต่ละชุด ไม่พร้อมกัน เช่น ทยอยผลิตเพลงทีละเพลง หรือภาพยนตร์ทีละภาค โดยจะทยอยเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับการทยอยออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งอาจแตกต่างจากหลักเกณฑ์การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในปัจจุบันที่มีออกเสนอขายเป็นรายครั้ง
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการเกี่ยวกับการอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO) แบบกลุ่ม (shelf filing) และการปรับปรุงสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อย รวมทั้งร่างประกาศที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 เพื่อเพิ่มทางเลือกและความยืดหยุ่นในการขออนุญาต ICO ซึ่งเอกชนสามารถเลือกใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะของโทเคนดิจิทัล อันเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้การระดมทุน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (shelf filing) โดยกำหนดให้โทเคนดิจิทัลที่สามารถเสนอขายแบบดังกล่าวได้ต้องเป็นโทเคนดิจิทัลที่เป็นโครงการ ซึ่งมีทรัพย์สินอ้างอิงหรือทรัพย์สินที่ลงทุนในลักษณะเดียวกัน หรือโครงการในทำนองเดียวกัน ตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ได้แก่ โครงการในกลุ่มอุตสาหกรรม soft power เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร ศิลปะ เป็นต้น โดยผู้ออกโทเคนดิจิทัล (issuer) สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้หลายครั้งภายใต้เอกสารคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) ส่วนที่ 1 รายการข้อมูลพื้นฐานเดียวกัน โดยเสนอขายได้ไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตครั้งแรก
ทั้งนี้ การขออนุญาตครั้งแรก กำหนดให้ issuer ยื่นคำขออนุญาตและแบบ filing ส่วนที่ 1 รายการข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับ issuer และแบบ filing ส่วนที่ 2 รายการข้อมูลเกี่ยวกับราคา ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลและข้อมูลการเสนอขายในครั้งนั้น โดยกระบวนการพิจารณาคำขออนุญาตของ ก.ล.ต. จะเป็นไปตาม
หลักเกณฑ์ปัจจุบัน และสำหรับการเสนอขายครั้งถัดไปภายใต้ shelf filing เดียวกัน issuer สามารถยื่นเฉพาะแบบ filing ส่วนที่ 2 โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาข้อมูลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับข้อมูลครบถ้วน นอกจากนี้ issuer ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ICO อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(2) ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อผู้ลงทุนรายย่อยรวมสำหรับกรณีที่เป็นโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรม soft power เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร ศิลปะ เป็นต้น จากเดิมที่หลักเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดสัดส่วนและมูลค่าสูงสุดของการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยรวมกันไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมดที่เสนอขายต่อครั้ง หรือไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของ issuer แล้วแต่มูลค่าใดจะสูงกว่า
อย่างไรก็ดี การกำหนดให้มีระบบการอนุญาต เพื่อให้ ก.ล.ต. สามารถพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนอนุญาตให้มีการเสนอขาย ICO แบบกลุ่ม (shelf filing) เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการเปิดเผยข้อมูลไว้ตามที่กำหนดอย่างชัดเจนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (shelf filing)
การปรับปรุงสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อย และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=997 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2567