เหมืองขุดบิตคอยน์แห่ปันใจไปหา AI ธุรกิจใหม่ทำกำไรสดใสกว่าเยอะ
เมื่อราคา ‘บิตคอยน์’ ผันผวนหนัก ทำเหมืองขุดบิตคอยน์การขุดจน ‘ล้มละลาย’ หันซบธุรกิจ AI แหล่งรายได้ใหม่จากโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มี ซึ่งทำเงินกว่าพันล้านดอลลาร์
แม้ว่าในปัจจุบันราคาบิตคอยน์ (Bitcoin) จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 150% แต่ตลาดหมีทำราคาบิตคอยน์ร่วงลงอย่างหนักในปี 2565 จนแตะระดับต่ำสุดที่ 15,000 ดอลลาร์ ไม่เพียงแต่กระทบนักลงทุนที่ขาดทุนและติดดอยเท่านั้น แต่ยังกระทบเหมืองขุดบิตคอยน์หลายแห่งขาดทุน และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ “ล้มละลาย”
ความผันผวนของราคาบิตคอยน์ ทำให้การขุดเหมืองคริปโทเป็นธุรกิจที่ท้าทาย ซึ่งคอร์ ไซเอนทิฟฟิค(Core Scientific) คือหนึ่งในบริษัทที่ทำเหมืองขุดบิตคอยน์ตั้งแต่ปี 2560 นานกว่า 5 ปี ก่อนที่จะประกาศล้มละลายในปี 2565 และตัดสินใจกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์(AI)อย่างเงียบๆ
ความต้องการคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐาน AI เพิ่มขึ้นหลังจาก OpenAI เปิดตัว ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทำให้เกิดการลงทุนในโมเดล AI และสตาร์ทอัพจำนวนมาก
Core Scientific และเหมืองขุดรายอื่น ๆ เช่น Bit Digital, Hive, Hut 8 และ TeraWulf ก็มองหาธุรกิจที่สามารถสนับสนุนแหล่งรายได้ใหม่ หลังจากที่เกิด Bitcoin halving ซึ่งทำให้รางวัลสำหรับการขุดลดลงถึง 50%
ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ใช้พื้นฐานเดิม คือ “ศูนย์ข้อมูล” ที่ใช้ในการขุด Bitcoin ซึ่งมีพลังงาน ไฟฟ้า และพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับศูนย์ข้อมูล AI และสามารถหารายได้จากธุรกิจ AI นั่นคือ HPC หรือ High-Performance Computing คือ ธุรกิจที่ให้บริการการประมวลผลประสิทธิภาพสูง โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการฝึกอบรม AI
คลาวด์ AI ใช้เงินลงทุนมากกว่า 20 เท่า
เจมส์ บัตเตอร์ฟิลล์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ CoinShares อธิบายว่าเหมืองขุดบิตคอยน์มีพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจศูนย์ข้อมูลที่ปลอดภัยและใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่เข้มข้น ซึ่งสามารถรองรับการใช้งาน AI ได้เช่นกัน
แต่ทว่าความคล้ายคลึงกันของโครงสร้างพื้นฐานระหว่างการขุดบิตคอยน์และ AI กำลังนำไปสู่การแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ของทั้ง 2 ธุรกิจ รวมทั้ง AI ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าการขุดบิตคอยน์ถึง 20 เท่า แต่ก็สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าเช่นกัน
ขณะที่ศูนย์ข้อมูล AI ต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างจากฟาร์มขุดบิตคอยน์ ปกติแล้วศูนย์ข้อมูล AI ต้องการ CPU และ GPU ที่ทรงพลังกว่า รวมถึงระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งฟาร์มขุดบิตคอยน์มักใช้ ASICs (Application-Specific Integrated Circuit )ซึ่งเป็นชิปที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการขุด ดังนั้น ASICs เหล่านี้ไม่สามารถใช้สำหรับงานอื่นๆ ได้
นักวิเคราะห์ของนีดแฮม ระบุว่าศูนย์ข้อมูล HPC มีต้นทุนที่ 8 - 10 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนในการซื้อ GPU ในขณะที่การขุดบิตคอยน์ทั่วไปใช้ต้นทุนราว 300,000 - 800,000 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์เท่านั้น
เหมืองขุดบิตคอยน์มีรายได้จาก AI
การลงทุนของเหล่าเหมืองขุดบิตคอยน์ที่เคยขาดทุน กลับมามีรายได้จากขยายธุรกิจมาสู่ AI หลายแห่งเริ่มประเมินรายได้และผลกำไรที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ นำโดย CoinShares Bit Digital มีรายได้ 27% มาจาก AI เช่นเดียวกับ Hut 8 และ Hive มีรายได้มาจาก AI 6% และ 4% ตามลำดับ
บริษัทขุดบิตคอยน์หลายแห่งกำลังมองหาโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้จาก AI ท่ามกลางราคาบิตคอยน์ที่ผันผวน เช่น Iris Energy คาดว่าจะสร้างรายได้ต่อปีระหว่าง 14-17 ล้านดอลลาร์จากบริการคลาวด์ AI ส่วน Bit Digital เผยว่าใช้เซิร์ฟเวอร์ที่มีทั้งหมด 251 สร้างรายได้ประมาณ 4.1 ล้านดอลลาร์จากสัญญา AI
ส่วน Core Scientific ได้ลงนามข้อตกลงอายุ 12 ปีกับ CoreWeave ผู้ให้บริการคลาวด์ AI ตามข้อตกลง Core Scientific จะจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พื้นที่ศูนย์ข้อมูล ไฟฟ้าและการระบายความร้อน ให้กับ CoreWeave ข้อตกลงนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับ Core Scientific มากกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ตลอดอายุสัญญา ทำให้หุ้นของ Core Scientific พุ่งขึ้นประมาณ 30% ในเช้าวันถัดมาหลังจากมีการประกาศข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้และการมุ่งสุ่ AI ของเหมืองขุดบิตคอยน์ต่างๆนั้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่สำคัญ 2 ประการคือ บริษัทขุดบิตคอยน์กำลังมองหาแหล่งรายได้ใหม่ เนื่องจากราคาบิตคอยน์ที่ผันผวนและความต้องการ ต่อบริการ AI นั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว