อัปเดต! จับนักธุรกิจ เบื้องหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุนเทรดเหรียญดิจิทัล
อัปเดตล่าสุด จับนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจจีน เบื้องหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุนปลอมแอปเทรดเหรียญดิจิทัล แจ้งความแล้วกว่า 20 ราย
กรณีตำรวจสอบสวนกลาง ทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ Lock Star รวบนักธุรกิจไทย-จีน เบื้องหลัง เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมแอปเทรดเหรียญดิจิทัล หลอกลงทุน เบื้องต้น เหยื่อแจ้งความแล้วกว่า 20 ราย
อัปเดตล่าสุด ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., และ รอง ผบก.ปอท., ได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุด
พื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงราย นนทบุรี และปทุมธานี
ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา กลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเครือข่ายหลอกลงทุนออนไลน์ ไฮบริดสแกม (Hybrid Scam) ตั้งแต่ระดับหัวหน้าเครือข่าย ที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการศูนย์ปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และคนที่ดูแลเรื่องฟอกเงิน
บุกจับนักธุรกิจไทย-จีน เบื้องหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง 6 ราย
1. MR.ZHIVEI GAO หรือ นายจีเว่ย เกา สัญชาติจีน อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา พระโขนง ทำหน้าที่ระดับสั่งการ รับผลประโยชน์
2. MR.JUE CHEN หรือ นายจู เฉิน สัญชาติจีน อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ทำหน้าที่กลุ่มบริหารจัดการ หน้าที่แปรสภาพทรัพย์สิน
3. นายธนโชติฯ อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ทำหน้าที่ระดับสั่งการ และรับผลประโยชน์
4. นางสาวชณัฐธิษาฯ อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ทำหน้าที่ระดับสั่งการ และรับผลประโยชน์
5. นายศิวาฯ อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ทำหน้าที่ระดับสั่งการ และรับผลประโยชน์
6. น.ส.ชลดาฯ อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาพระโขนง ทำหน้าที่ระดับสั่งการ และรับผลประโยชน์
ในความผิดฐาน
- ร่วมกันเป็นอั้งยี่,
- ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,
- ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น,
- ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน,
- สมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
- ได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน
- ร่วมกันฟอกเงิน
กลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้ลงทุน โดยมีการ โพสต์ข้อความสาธารณะลักษณะชักชวนให้เข้าไปลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล Cryptocurrency ผ่านเว็บไซต์ชื่อ Tidex ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ปลอมขึ้นมาทั้งหมด
มีความคล้ายกับแอปพลิเคชันเทรดเหรียญดิจิทัลของจริงที่ชื่อว่า Tidex โดยเสนอให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไปลงทุน ต่อมาพบว่าไม่มีการลงทุนจริง
กลโกงหลอกลงทุน 20 ล้าน
พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้าย จะหลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นมา และให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่คนร้ายแจ้งเพื่อซื้อเหรียญดิจิทัล
โดยทุกครั้งที่ผู้เสียหายโอนเงินไปให้กลุ่มคนร้าย ยอดเหรียญดิจิทัลจะแสดงในแอปพลิเคชันสอดคล้องกับจำนวนที่โอนเข้าไป และมีกำไรเข้ามาจากการลงทุนแสดงอยู่ในแอปพลิเคชัน
ภายหลังตรวจสอบพบว่าเป็นการปลอมตัวเลขขึ้นมาทั้งหมด เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเงินเข้าไปเพิ่มอีก เมื่อผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ที่จะขอถอนเงินออกมา กลุ่มคนร้ายก็แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องภาษี
และยังหลอกให้ผู้เสียหายต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มอีก ผู้เสียหายได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มคนร้าย จำนวน 17 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 22.4 ล้านบาท
ก่อนที่กลุ่มคนร้ายจะทำการปิดเว็บไซต์ไป และบล็อกช่องทางการติดต่อทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับกลุ่มคนร้ายได้อีก
ผู้เสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด กก.1 บก.ปอท. จึงได้ประสานข้อมูลการรับแจ้งมายังศูนย์ AOC พบว่ามีผู้เสียหายหลงเชื่อและทำการโอนเงินเพื่อลงทุนตามประกาศโฆษณาในเพจดังกล่าว และได้รับความเสียหายหลายราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันเว็บไซต์ปลอมได้ปิดเว็บไซต์ไปแล้ว
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท. ร่วมกับ อสส. และ ปปง. ทำการสืบสวนเส้นทางการเงิน และเส้นทางของเหรียญดิจิทัลที่ได้จากการฉ้อโกงผู้เสียหายพบว่า ภายหลังจากที่ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารแล้ว
กลุ่มคนร้ายจะนำเงินดังกล่าวไปซื้อเหรียญดิจิทัลแล้วโอนต่อไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลส่วนตัว หรือ Private wallet กว่า 20 กระเป๋า เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายจะมีการโอนเหรียญดิจิทัลไปรวมที่กระเป๋าเหรียญดิจิทัลกลางของคนร้าย ก่อนที่จะมีการเทขายเหรียญดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนจากเหรียญดิจิทัลให้กลายเป็นเงินบาทไทย
โดยรูปแบบการกระทำความผิดของกลุ่มคนร้าย พบว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจะแบ่งเป็น
- หัวหน้า ทำหน้าที่ สั่งการ,
- กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ ติดต่อพูดคุยและหลอกลวงเหยื่อ
- กลุ่มนายหน้า จัดหาบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า รวบรวมบัญชีต่างๆ นำไปมอบให้กับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์
- กลุ่มบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัล
- กลุ่มที่ทำหน้าที่ฟอกเงิน โดยนำเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงไปซื้อทรัพย์สินมีค่า และอสังหาริมทรัพย์ ต่าง ๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ โดยเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีนและชาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มระดับสั่งการ, ผู้บริหารดูแลเรื่องฟอกเงิน และรับผลประโยชน์
สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งสิ้นจำนวน 6 ราย ประกอบด้วยชาวจีน 2 ราย ชาวไทย 4 ราย
จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย