ก.ล.ต.ลุยปรับเกณฑ์‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เอกชน16ราย หารือออกโทเคนเพื่อลงทุน

ก.ล.ต.ลุยปรับเกณฑ์‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เอกชน16ราย หารือออกโทเคนเพื่อลงทุน

"ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล" และ "ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล" มีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่อเนื่อง

เป้าหมายสำคัญ เพื่อส่งเสริมการระดมทุน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สนับสนุนประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้มีคุณภาพ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย ทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

จอมขวัญ คงสกุล” รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยถึง การส่งเสริมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลล่าสุดว่า ก.ล.ต. มีการกปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

เดือนส.ค. 2567 ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ และบังคับใช้แล้วใน 4 เรื่อง ได้แก่ 

1.โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token)

2.โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) ขณะนี้มีผู้ที่สนใจยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการแล้ว 3-4 ราย โดยมี 2 ราย เป็นโครงการ Programmable Payment Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และก.ล.ต.ให้การสนับสนุน และอีก 2 ราย เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ต้องการใช้นวัตกรรมใหม่มาใช้

3.การบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ

4.การยกระดับหลักเกณฑ์กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules)

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 10 เรื่อง แบ่งเป็น 4 เรื่อง คาดจะออกเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 3-4 ปี 2567  ได้แก่ 

1.การขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (Shelf Filing) เพื่อรองรับการระดมทุนของอุตสาหกรรม soft power ส่งเสริมเศรษฐกิจ ดิจิทัลของประเทศ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการค่ายเพลง สนใจออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยมีเข้ามาหารือแล้ว 1-2 ราย

2.หลักเกณฑ์สนับสนุนให้มีผู้ใช้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย เพื่อจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะมีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมีมาแล้ว 2 ราย 

3.การขอรับใบอนุญาตเพื่อสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์ช่วยขาย Investment Token

4.หลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 เรื่อง คาดจะออกเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ได้แก่ 

1.การวางแนวปฏิบัติด้านการโฆษณา และส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

2.การวางแนวปฏิบัติ KYC ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

3.การจัดส่งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

และอีก 3 เรื่อง ที่ยังอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นและพิจารณา ได้แก่

1.การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ ICO Portal ใช้ Outsource ระบบงานได้เพิ่มเติม

2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุน Investment Token ในระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ 

3.เปิดศูนย์ซื้อขายสิน ทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการ Utility Token ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคบางลักษณะได้ 

 “จอมขวัญ” กล่าวว่า สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment token) ปัจจุบันมีผู้สนใจระดมทุนเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้นักลงทุน (ICO) เข้าหารือกับ ก.ล.ต. แล้ว จำนวน 16 ราย เช่น Project-based ICO ในรูปแบบการลงทุนฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต (Green Token) มีผู้สนใจ 2-3 ราย พร้อมคาดยื่นไฟลิ่ง 1-2 ราย และระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในอสังหาฯ กิจการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึง Soft Power เข้ามาหารือประสงค์ที่จะออก 1-2 ราย เป็นค่ายเพลงแต่ยังไม่ได้ยื่นไฟลิ่ง 

ส่วนโทเคนดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ (utility token) ก.ล.ต.ได้เสนอไปยังกรมสรรพากร ให้เก็บภาษีรอบเดียว ซึ่งสรรพากรรับเรื่องไว้แล้ว อยู่ระหว่างร่างกฎหมายต่อไป    

ปีนี้แม้การออก ICO ยังมีคนสนใจไม่มากนัก แต่มองหากมีตัวอย่างธุรกิจที่สามารถระดมทุนได้สำเร็จผ่านช่องทางนี้ที่ก.ล.ต. เร่งผลักดันการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่เรียกว่า "คนตัวเล็ก" มีช่องทางระดมทุน แน่นอนคนจะสนใจเข้ามาเพิ่มเติมกระจายไปยังผู้ประกอบการที่เห็นประโยชน์มากที่สุด 

ก.ล.ต.วางเป้าหมายเพิ่มจำนวนรายผู้ออก ICO คาดหวังให้มากที่สุด ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลาง มูลค่าระดมทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ความสนใจและมาหารือกับก.ล.ต. โดยเฉพาะ Green Project และ Soft Power ซึ่งรูปแบบดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาด Investment Token ยังรอความพร้อมในหลายๆ เรื่อง หากการผลักดันกฎหมายเรื่องภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลครบถ้วน ประกอบกับดำเนินการแก้กฎหมายให้ Investment Token อยู่ภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ได้สำเร็จ ตลาด Investment Token จะเติบโตเข้ามาสนับสนุุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ      

ปัจจุบันการระดมทุน ICO ประสบความสำเร็จแล้ว 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 5.1 พันล้านบาท ได้แก่ Real estate- backed Token โดย SPV 77 มูลค่า 2,400 ล้านบาท, Project-based Token โดยบริษัท สเปเชียล เดสทินี มูลค่า 265 ล้าน บาท และ Real estate-backed Token โดยบริษัท เรียล เอสเตท เอกซ์โพเนนเชียล มูลค่า 2,400 ล้านบาท

ก.ล.ต.ลุยปรับเกณฑ์‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เอกชน16ราย หารือออกโทเคนเพื่อลงทุน