YLG มองครึ่งปีหลัง "ทอง" เป็นขาลง แนะรอจังหวะสะสม
"วายแอลจี" มองทองครึ่งปีหลัง 65 แม้เป็นเทรนขาลง แนะหาโอกาสรอซื้อสะสมเพื่อขายทำกำไรในระยะยาว ขณะที่ครึ่งปีแรกธนาคารกลางทั่วโลกสำรองทองคำเพิ่ม270ตัน สะท้อนความต้องการทองยังเป็นบวก มองราคาทองยังเคลื่อนไหว 29,350-30,200 บาท
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า แม้ว่าสัญญาณทองคำในช่วงครึ่งปีหลังมีลักษณะแกว่งตัวในทิศทางลง แต่ YLG มองว่าระยะยาวยังมีโอกาสแข็งแกร่ง เนื่องจากสัญญาณความต้องการของธนาคารกลางทั่วโลกยังเป็นบวก
ส่วนหนึ่งมองว่าเพื่อรักษาค่าเงินรวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบจากความขัดแย้งของจีน-สหรัฐ กรณี เยือนเกาะไต้หวัน ยังต้องจับตามอง จึงทำให้นักลงทุนยังให้น้ำหนักกับการเข้าซื้อทองคำ
โดยจะเห็นได้จากความต้องการทองคำในภาคการลงทุน ETF ทองคำที่แข็งแกร่ง ผลักดันความต้องการทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ทำสถิติเป็นครึ่งปีแรกที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่ปี 2553
โดย ETF ทองคำทั่วโลกมีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 272.7 ตันในไตรมาส 1 ของปี 2565 แม้จะเกิดการไหลออกของเงินทุนราว 39 ตันในไตรมาส 2 แต่โดยรวมแล้วความต้องการทองคำในภาคการลงทุน ETF ทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปี 2564 ถึง 35% ส่วนความต้องการทองคำในภาคการลงทุนทองคำแท่งและเหรียญในไตรมาส 2 ของปีทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าโดยอยู่ที่ระดับ 244.5 ตัน
ทั้งนี้ วายแอลจีแนะนำนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทองคำ ระยะสั้น แนะนำเล่นรอบโดยเปิดสถานะขายทำกำไรระยะสั้นเมื่อราคาดีดตัวขึ้นไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,731-1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สถานะขายตัดขาดทุนหากราคาผ่าน 1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้) ดูบริเวณแนวรับ 1,711-1,697 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุดสามารถปิดสถานะขายเพื่อทำกำไร ส่วนทองคำในประเทศคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 29,350-30,200 บาทต่อบาททองคำ
นางพวรรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดสภาทองคำโลก (Wolrld Gold Council) ได้เปิดเผยข้อมูลว่าครึ่งแรกของปี 2565 ตลาดทองคำมีความต้องการทางกายภาพที่แข็งแกร่งโดยมีจำนวนทั้งสิ้น 2,189 ตัน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว แม้ว่าความต้องการทองคำจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่คงอยู่ควบคู่ไปกับความไม่แน่นอนของตลาดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนราคาทองคำในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจะทำหน้าที่เป็นอุปสรรคสำคัญของทองคำ
อย่างไรก็ดีในจำนวนนี้พบว่าธนาคารกลางทั่วโลกได้ทำการสำรองทองคำเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกถึง 270 ตัน การเข้าซื้อในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้นำโดยตุรกีที่ถือครองทองคำเพิ่ม 63 ตัน ตามมาด้วยอียิปต์ 44 ตัน อิรัก 34 ตัน และอินเดีย 15 ตัน ซึ่งเป็นความต่อเนื่องของการซื้อที่แข็งแกร่งที่ต่อเนื่องจากเมื่อปีที่แล้ว และสภาพทองคำโลกได้คาดว่าทั้งปี ความต้องการของธนาคารกลางในปี 2565 จะเท่ากับระดับเดียวกับปี 2564
สำหรับการสำรองทองคำเฉพาะในไตรมาส 2/2565 การซื้อสุทธิของธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ที่ 180 ตัน เฉพาะเดือนมิถุนายน พบว่าธนาคารกลางทั่วโลกได้ซื้อทองคำสำรองสุทธิ 59 ตัน ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่ไม่พบรายงานยอดขาย -ขณะที่ธนาคารกลางอิรักเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในเดือนมิถุนายน โดยเพิ่มทองคำสำรอง 34 ตัน นี่เป็นการเพิ่มครั้งแรกของอิรักตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ตามด้วย อุซเบกิสถาน 9 ตัน ตุรกี 8 ตัน คาซัคสถาน 4 ตัน และอินเดีย 4 ตัน
นอกจากนี้ยังพบว่าผลสำรวจ Central Bank Gold Survey 2022 ของ สภาทองคำโลก และ YouGov พบว่า ธนาคารกลาง 25% คาดว่าจะเพิ่มการถือครองทองคำของตน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 21% ในผลสำรวจปีที่แล้ว และที่สำคัญ คือ “ไม่มี” ธนาคารกลางใดวางแผนที่จะลดทองคำสำรองในอีก 12 เดือนข้างหน้า