ยื่นภาษีครึ่งปี’65 (ภ.ง.ด.94) เริ่มแล้ว เช็คด่วน! ใครต้องยื่นบ้าง
ฤดูกาล "ยื่นภาษีครึ่งปี" กลับมาถึงอีกแล้ว! มีใครบ้างที่เข้าข่ายต้องยื่นภาษีครึ่งปี พร้อมแนวทางการยื่นภาษีครึ่งปี นำอะไรมาลดหย่อนได้บ้าง เหมือน หรือ ต่างจากการยื่นภาษีประจำปีอย่างไร?
เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 2565 (ภ.ง.ด.94) ซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี จะต้องยื่นภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน พ.ศ.2565 ภายในวันที่ 30 กันยายน หรือยื่นแบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ถึงวันที่ 10 ตุลาคม เพื่อป้องกันการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
ทั้งนี้ หากใครกำลังจะรีบไปยื่นภาษีครึ่งปี แวะอ่านก่อนสักนิด! ว่าคุณคือผู้มีรายได้ที่เข้าข่ายต้องยื่นภาษีครึ่งปีหรือไม่ พร้อมแนวทางการยื่นภาษีครึ่งปี นำอะไรมาลดหย่อนได้บ้าง เหมือน หรือ ต่างจากการยื่นภาษีประจำปีหรือไม่ ไปพิสูจน์พร้อมกัน
- รู้จักกับ ภ.ง.ด.94 และการยื่นภาษีครึ่งปี
ยื่นภาษีครึ่งปี เป็นการยื่นภาษีกลางปีเพื่อสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน สำหรับบุคคลธรรมดาหรือบุคคลทั่วไป เป็นการชำระภาษีประจำปีล่วงหน้า เพื่อช่วยบรรเทาภาระในการเสียภาษีก้อนใหญ่ที่เดียวสำหรับรายได้ทั้งปี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาระกับผู้ยื่นภาษีได้
ดังนั้น ถ้าหากใครเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(5)-(8) ซึ่งเข้าข่ายตรงกับผู้มีรายได้ตามกฎหมายกำหนด จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อแสดงรายการรายได้ครึ่งปี
- ใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)
1.ผู้ที่เป็นโสด ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) เกิน 60,000 บาท
2.ผู้ที่มีคู่สมรส ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) ฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 120,000 บาท
3.กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง เกิน 60,000 บาท โดยให้ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94
4.ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท โดยให้ผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการของห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94
5.คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท โดยให้ผู้จัดการของคณะบุคคล เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94
- อาชีพใดบ้างที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)
อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่าใครที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี ซึ่งบุคคลเหล่านี้หากมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) หรือมีรายได้จากอาชีพดังต่อไปนี้จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี ซึ่งประกอบด้วย
1.เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) หมายถึง รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่ารถยนต์ ค่าเช่าคอนโดหรือที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
2.เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) หมายถึง รายได้จากวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่
2.1 โรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์
2.2 ประณีตศิลป์ เช่น งานวาด งานหล่อ งานปั้น
2.3 สถาปนิก เช่น งานออกแบบ
2.4 วิศวกร เช่น งานออกแบบ
2.5 นักบัญชี เช่น ทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี
2.6 ทนายความ เช่น ที่ปรึกษา ว่าความ
3.เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) หมายถึง รายได้จากการรับเหมา ออกวัสดุส่วนประกอบสำคัญ นอกเหนือจากอุปกรณ์สัมภาระที่มี
4.เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) หมายถึง รายได้จากการพาณิชย์ หรือประเภทอื่นที่ไม่เข้าเงินได้ 40(1)-(7) เช่นรายได้จากการขายของออนไลน์ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย นักแสดง ศิลปิน
โดยรายได้เหล่านี้ไม่ใช่เงินเดือนประจำ จะอยู่ในรูปแบบที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย
- อะไรสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ได้บ้าง
สิ่งที่สำคัญสำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือเรื่องของการคำนวณภาษี อย่างเช่นค่าลดหย่อนหลายๆ รายการ สามารถนำมาลดหย่อนได้เหมือนยื่นภาษีประจำปี แต่จะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งเนื่องจากเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี ซึ่งสามารถสรุปค่าลดหย่อนสำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีได้ดังนี้
1.ลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
2.คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
3.บุตร ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท บุตรคนที่ 2 เกิดตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 เป็นต้นไปลดหย่อนได้เป็นคนละ 30,000 บาท/คน
4.บิดามารดาหรือบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ลดหย่อนสูงสุดได้ 15,000 บาท
5.อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ ลดหย่อนสูงสุดได้ 30,000 บาท
6.เบี้ยประกันชีวิต ลดหย่อนได้สูงสุดเมื่อรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน 95,000 บาท
7.เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ลดหย่อนได้สูงสุด 5,000 บาท แต่ต้องสมรสมาแล้วทั้งปี
8.ประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้สูงสุด 25,000 บาท
9.ประกันสุขภาพบิดา/มารดา ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท
10.ประกันบำนาญ ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ไม่เกิน 25% ของรายได้ครึ่งปีแรกก่อนหักค่าลดหย่อน
11.SSF ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้ครึ่งปีแรกก่อนหักค่าลดหย่อน และต้องซื้อก่อน 30 มิ.ย.2565 จึงมาลดหย่อนครึ่งปีได้
12.RMF ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้ครึ่งปีแรกก่อนหักค่าลดหย่อนและต้องซื้อก่อน 30 มิ.ย.2565 จึงมาลดหย่อนครึ่งปีได้
13.ดอกเบี้ยก็บ้าน ลดหย่อนได้สูงสุด 95,000 บาท
14.ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท โดยซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565
15.กบข. ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้ แต่ใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้
16.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้ แต่ใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้
17.กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้ แต่ใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำหรับข้อ 6, 8-10 จะต้องชำระเบี้ยประกันภายใน 30 มิ.ย.2565 ก่อน จึงจะสามารถนำมาลดหย่อนได้
สรุป
อย่างไรก็ตามการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) เมื่อถึงเวลาแล้วไม่ยื่นภาษีครึ่งปี ตามกฎหมายถือว่ามีความผิดต้องเสียค่าปรับอยู่ที่ 2,000 บาท รวมถึงเสียดอกเบี้ยจากภาษีที่ต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือน
ในกรณีที่ยื่นภาษีครึ่งปีล่าช้าไม่เกิน 7 วัน จะเสียเบี้ยปรับ 100 บาท แต่ถ้ายื่นภาษีครึ่งปีช้าเกินกว่า 7 วัน จะต้องเสียเบี้ยปรับ 200 บาท โดยต้องเน้นย้ำว่าเป็นการเสียภาษีล่วงหน้าบางส่วนเท่านั้น เมื่อถึงสิ้นปีจะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง เป็นการจ่ายภาษีประจำปีในส่วนที่เหลือให้ครบตามข้อมูลที่แท้จริง
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่