สรรพสามิตเปิดแผนศึกษาเก็บภาษีสินค้าใหม่ปีงบ 66

สรรพสามิตเปิดแผนศึกษาเก็บภาษีสินค้าใหม่ปีงบ 66

สรรพสามิตเปิดแผนศึกษาเก็บภาษีสินค้าใหม่ปีงบ 66 เน้นสินค้าที่ดูแลสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันไบไอเจ็ท ไบไอพลาสติก แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า เหล้า-เบียร์ แอลกอฮอลล์ 0% บุหรี่ไฟฟ้า และ คาร์บอน ตั้งเป้าภาษี 5.67 แสนล้าน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตมีแผนศึกษาเก็บภาษีสินค้าใหม่ เน้นกลุ่มสินค้าทึ่ดูแลเพื่อสุขภาพและรักษาส่ิงแวดล้อม ประกอบด้วย  1. น้ำมันไบไอเจ็ท 2.ไบไอพลาสติก 3.แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า 4.เหล้า-เบียร์ มีแอลกอฮอล์ 0% 5.บุหรี่ไฟฟ้าและ6.ภาษีคาร์บอน โดยตั้งเป้าว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะมีข้อสรุปชัดเจนภายในปีนี้ ส่วนจะจัดเก็บเมื่อใดนั้น ต้องรอเวลาการกำหนดพิกัดอัตราภาษีที่เหมาะสมก่อน 

ทั้งนี้ แนวคิดการศึกษาการจัดเก็บภาษีสินค้าใหม่ดังกล่าว เป็นหนึ่งในเทรนด์ความท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต ซึ่งจะประกอบด้วย 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ 1. การฟื้นตัวจากโควิด-19 ท่ามกลางสงครามการค้าและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค

 3.สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพมีการเติบโตมากขึ้น และ 4. ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สู่ความยั่งยืนในอนาคต

“กรมฯพร้อมทึ่จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ปี 66 ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจรักษาสิ่งแวดล้อม และสังคมธรรมาภิบาล(ESG) ไม่ใช่เก็บภาษีอย่างเดียว”

 

สำหรับการจัดเก็บภาษีสินค้าแบตเตอรีนั้น ปัจจุบันกรมฯได้จัดเก็บภาษีอยู่แล้วในอัตรา 8% แต่เพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม กรมฯจะสนับสนุนภาษีในรูปแบบที่แบตเตอรี่นำมารีไซเคิลได้ หากรีไซเคิลไม่ได้ จัดเก็บอัตราภาษีแพง 

ส่วนกรณีสินค้าเหล้า-เบียร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ก็จะจัดเก็บภาษีสูง แต่หากไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์-เหล้า 0% ก็จัดเก็บภาษีต่ำ ซึ่งเทรนด์การดื่มอัลกอฮอล์ 0%นี้ ถือเป็นเทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ ฉะนั้นกรมฯจึงส่งเสริมและหนุนให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ เหล้าเบียร์ 0%นี้ เราจะจัดอยู่ในหมวดหมู่เครื่องดื่มทั่วไป โดยอัตราภาษีจะต่ำกว่าภาษีเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์แต่จะสูงกว่าเครื่องดื่มทั่วไป

“การเก็บภาษีจะทำภายใต้หลักการสินค้าทำลายสิ่งแวดล้อมก็ต้องเก็บภาษีสูง ถ้ารักษาสิ่งแวดล้อม เก็บภาษีต่ำ เช่นเดียวกับภาษีความเค็มมาก และความหวานมาก ก็ต้องเก็บภาษีสูง หวานน้อยเค็มน้อยก็เก็บภาษีต่ำ เพื่อรักษาสุขภาพของคนไทย” 

ทั้งนี้ ในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณการรักษาสุขภาพของประชาชนมากกว่า 1 แสนล้านบาท  โดยปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน  มีผู้ป่วยฟอกไต 1-2 แสนคน และยังมีผู้ป่วยโรคปอด โรคตับแข็งอีกจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลดังนั้นจึงควรใช้มาตรการช่วยลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นายเอกนิติ กล่าวว่า การศึกษาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล(Governance) หรือ  ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน  ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ส่งเสริมสังคม และสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศ  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมสรรพสามิตยังสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังและวางรากฐานให้สังคมไทยด้วย

สำหรับการจัดเก็บรายได้นั้น ในปีงบประมาณ2566 กรมสรรพสามิตมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้รวม5.67 แสนล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2565 กรมฯจะจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งนับรวมการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลแล้ว