แบงก์พาณิชย์ แห่ปิดสาขา 3 ปีกว่า 1 พันสาขา

แบงก์พาณิชย์ แห่ปิดสาขา 3 ปีกว่า 1 พันสาขา

"ธนาคารพาณิชย์" แห่ปิดสาขา หลังหันใช้ดิจิทัล - แบงกิ้ง เอเย่นต์ พบเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ในประเทศ ลดลงกว่า 1 พันแห่ง ไทยพาณิชย์ลดมากสุด 299 สาขา ด้าน "ธนาคารกสิกรไทย - ธนาคารกรุงเทพ ชี้สาขาลดต่อเนื่อง

      ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมสาขาของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดโควิด-19  ลดลงถึง 981 สาขา มาอยู่ที่ 5,870 สาขา (ณ ก.ค.2565) จากปีสิ้นปี 2562  อยู่ที่  6,851 สาขา ทั้งนี้หากดูเฉพาะสาขาในประเทศ พบว่า ลดลงเช่นเดียวกันถึง 1,071 สาขา มาอยู่ที่ 5,434 สาขา จาก 6,508 สาขา

      ทั้งนี้หากดูเป็นรายแบงก์ พบว่าในช่วงเกือบ 3 ปี แบงก์ที่สาขาลดลงมากที่สุดได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์  ภาพรวมสาขาลดลง 208 สาขา และสาขาในประเทศลดลง 299 สาขา 

    ถัดมาคือ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) สาขาลดลง 194 สาขา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  ต่อมา ธนาคารกรุงไทย(KTB) สาขาลดลง 98 สาขา และในประเทศลดลง 108 สาขา  ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)และธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) สาขาลดลง 58 สาขาใกล้เคียงกัน

      ส่วนธนาคารที่มีสาขาเพิ่มขึ้น  ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) ที่สาขาเพิ่มขึ้น 195 สาขา ซึ่งหลักๆมาจากการรวมกิจการกับธนาคารธนชาตในช่วงที่ผ่านมา
 

       นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมสาขาของธนาคารกสิกรไทย ยังลดลงต่อเนื่อง เพราะคนหันไปทำธุรกรรมผ่านดิจิทัล และผู้ให้บริการทางการเงินแทนธนาคาร(แบงกิ้ง เอเย่นต์) ที่ปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้ง เอเย่นต์โตถึง 15% ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านสาขา และเอทีเอ็มอยู่เพียง 2-5% เท่านั้น

      ดังนั้นจำเป็นต้องกลับมาดูในภาพรวม ว่าในเมื่อคนหันไปทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น สาขาบางแห่งจำเป็นหรือไม่ ดังนั้นยังมองว่าสาขายังมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง เพราะธุรกิจที่ทำง่ายๆ ต่อไปจะไปอยู่บนแบงกิ้งเอเย่นต์ และดิจิทัลทั้งหมด

     แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ายังต้องมีสาขา เพราะส่วนหนึ่งสาขาสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ และหากดูการใช้โมบายแบงกิ้งของคนไทยผ่านโมบายแอปพลิเคชัน เคพลัส วันนี้อยู่เพียง 19 ล้านคน แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ใช้ดิจิทัล ดังนั้นสาขาก็ยังต้องคงมีอยู่แม้จะน้อยลงก็ตาม

     “เราเชื่อว่าสาขายังจำเป็น เพราะสาขาก็สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการทางการเงิน และยังมีอีกมาก ที่ยังไม่ใช้ดิจิทัล ดังนั้นการมีสาขาอยู่จะช่วยให้คนเหล่านั้นเข้าถึงบริการทางการเงินได้”

     นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า ภาพรวมสาขาของธนาคารยังทรงๆ ตัว เพราะที่ผ่านมาลดมาแล้วพอสมควร และข้างหน้าอาจมีบ้างที่จะลดลง หรือควบรวมบางทำเล แต่ความจำเป็นในการทำให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน เข้าถึงสินเชื่อยังมองว่าจำเป็น 

      โดยเฉพาะรายย่อย ดังนั้นการขยายสาขาจะอยู่ในรูปแบบของการเจาะกลุ่มรายย่อย โดยเฉพาะผ่านสมหวังเงินสั่งได้ ที่วันนี้ มีการขยายสาขาต่อเนื่อง โดยปีนี้เพิ่มขึ้น 150 สาขา เป็น 450สาขา เพิ่มสวนทางภาพรวมสาขาของแบงก์ที่มีการลดลงต่อเนื่อง

      นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า แนวโน้มสาขาของแบงก์คงมีทิศทางลดลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะสาขาบางโลเคชัน ที่จำนวนธุรกรรมน้อยลง ก็อาจเห็นการควบรวม หรือการลดสาขาลงได้ แต่สาขาบางโลเคชันก็อาจยังจำเป็น ในการใช้เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ

       ดังนั้นแม้ภาพรวมสาขาลดลงต่อเนื่อง แต่มองว่า สาขายังคงจำเป็นที่ต้องมี ดังนั้นคีย์เวิร์ดคือ ยังมองว่า เน็ตเวิร์กยังมีความสำคัญ เพราะดิจิทัลไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ดังนั้นเป้าหมายระยะสั้นระยะกลางของธนาคารคือ เน้นดูลูกค้าบุคคล และธุรกิจ ให้สามารถใช้บริการธนาคารได้ทุกช่องทางได้สะดวกมากขึ้น

      “เรายังมองว่าสาขายังจำเป็น โดยเฉพาะบางแห่งที่ยังต้องเชื่อมกับหน่วยงานธุรกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพรวม สาขาก็มีแนวโน้มลดลงเหมือนธนาคารอื่นๆ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เราทำคือธนาคารพยายามยกระดับการให้บริการผ่าน “ดิจิทัล” ให้ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าใช้งานสะดวกมากขึ้น”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์