เปิดลิสต์ "รถยนต์ไฟฟ้า" แบบไหนจดทะเบียนได้ แถมได้ลดภาษีประจำปีด้วย

เปิดลิสต์ "รถยนต์ไฟฟ้า" แบบไหนจดทะเบียนได้ แถมได้ลดภาษีประจำปีด้วย

กระแสมาแรงของ “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุน โดยกรมขนส่งทางบกก็ได้ “ลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี” ถึง 80% แต่รถไฟฟ้าแบบไหนที่สามารถจดทะเบียนได้ และมีเงื่อนไข หลักเกณฑ์สำหรับการเสียภาษีรถไฟฟ้าแตกต่างกันอย่างไร 

แม้ว่ายานพาหนะจะเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับคนในยุคปัจจุบัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายานพาหนะหลายประเภท เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ ได้สร้างมลภาวะเป็นพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่เรามักเห็นว่าทั้งภาครัฐและเอกชนมีการรณรงค์ให้หันมาใช้รถไฟฟ้า หรือ EV และนำเข้ารถไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก เรียกว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคโลกร้อนมากทีเดียว

โดยทางกรมขนส่งทางบกได้ออกมาตรการสนับสนุนให้คนไทยใช้รถไฟฟ้าด้วยการลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปีถึง80% ซึ่งรถไฟฟ้าแบบไหนสามารถจดทะเบียนได้ และมีเงื่อนไข หลักเกณฑ์สำหรับการเสียภาษีรถไฟฟ้าแตกต่างกันอย่างไร รายละเอียดต่อไปนี้

  • หลักเกณฑ์ที่กรมขนส่งทางบกกำหนด สามารถจดทะเบียนได้

 1. รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วย

- รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด

- รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน

- รถยนต์บริการธุรกิจ

- รถยนต์บริการทัศนาจร

- รถยนต์บริการให้เช่า

- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลคนไม่เกิน 7 คน

- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน

- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

- รถยนต์ 4 ล้อเล็กรับจ้าง

ทั้งนี้ หากเป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ และจะต้องติดเครื่องหมาย “e” หรือมีการกำหนดรหัสหรือรุ่นของผู้ผลิตที่แสดงถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวร และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

 2. รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วย

- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน

- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน

- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

- รถยนต์ 4 ล้อเล็กรับจ้าง

สามารถจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกได้ แต่จะต้องติดเครื่องหมาย “s” ไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวรและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

 3. รถยนต์รับจ้างและรถยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วย

- รถยนต์รับจ้างสามล้อ 

- รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล

 4. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า250 วัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 5. รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า250 วัตต์ แต่ไม่เกิน 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ทั้งนี้ มอเตอร์ไฟฟ้าของรถทุกประเภทข้างต้น จะต้องขับเคลื่อนรถรวมน้ำหนักบรรทุกด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที

 

  • ใช้รถไฟฟ้าได้ลดภาษีประจำปีถึง 80%

อัตราการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว จะเสียภาษีรถประจำปีในอัตราภาษีต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถ้าหากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะจัดเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้)

สำหรับอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าเสียภาษีตามน้ำหนักของรถ ดังนี้

- น้ำหนักรถ 500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 150 บาท

- น้ำหนักรถ 501-750 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 300 บาท

- น้ำหนักรถ 751-1,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 450 บาท

- น้ำหนักรถ 1,001-1,250 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 800 บาท

- น้ำหนักรถ 1,251-1,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,000 บาท

- น้ำหนักรถ 1,501-1,750 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,300 บาท

- น้ำหนักรถ 1,751-2,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,600 บาท

- น้ำหนักรถ 2,001-2,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,900 บาท

- น้ำหนักรถ 2,501-3,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,200 บาท

- น้ำหนักรถ 3,001-3,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,400 บาท

- น้ำหนักรถ 3,501-4,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,600 บาท

- น้ำหนักรถ 4,001-4,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,800 บาท

- น้ำหนักรถ 4,501-5,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,000 บาท

- น้ำหนักรถ 5,001-6,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,200 บาท

- น้ำหนักรถ 6,001-7,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,400 บาท

- น้ำหนักรถ 7,001 กิโลกรัมขึ้นไป รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,600 บาท

ส่วนรถไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อัตราการเก็บภาษีประจำปี ให้เก็บภาษีอัตรากึ่งหนึ่งของข้อกำหนดการจัดเก็บตามน้ำหนัก หรือจัดเก็บเป็นรายคัน เช่น

- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล จะเสียภาษีประจำปีในอัตราคันละ 50 บาท

- รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ จะเสียภาษีประจำปีในอัตราคันละ 50 บาท

แต่เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ได้สนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถไฟฟ้าเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกมาตรการลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี 80% เป็นเวลา 1 ปี เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 - วันที่ 30 กันยายน 2568 

ดังนั้น สมมุติว่าเสียภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปีในอัตรา 1,300 บาท ก็จะเหลือเพียง 260 บาทนั่นเอง

อย่างไรก็ตามสามารถตรวจสอบรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาจดทะเบียน และอัตราภาษีรถประเภทต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก 

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่