เปิดข้อกฎหมาย "แชร์ลูกโซ่" ทำไมอาจเจอโทษจำคุกได้ถึงหมื่นปี!?
เปิดข้อกฎหมาย “แชร์ลูกโซ่” นอกจากกรณี “Forex-3D” แล้ว หากย้อนกลับไปดูเคสก่อนหน้านี้ในไทย พบว่ามีโทษจำคุกเป็นระยะเวลาหลายพันปีหรือสูงถึง “หมื่นปี” ทำไมถึงมีการพิจารณาโทษแบบนี้ หาคำตอบที่นี่!
กรณีผู้ต้องหาคดี “Forex-3D” หรือ “คดีแชร์ลูกโซ่” ที่กำลังโด่งดังในขณะนี้ ล่าสุด.. มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศิลปินดาราในวงการบันเทิงไทยก็พบว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในด้านข้อกฎหมายและบทลงโทษเกี่ยวกับการ “ฉ้อโกงประชาชน” นั้น หากพบการทำผิดตามกฎหมายจริง ผู้ต้องหาอาจได้รับโทษจำคุกสูงเป็นระยะเวลาหลายพันปี หรือสูงสุดถึง “หมื่นปี” เลยทีเดียว
แล้วทำไมถึงมีการพิจารณาโทษจำคุกยาวนานขนาดนั้น? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหาคำตอบที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- แชร์ลูกโซ่ คืออะไร?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า "แชร์ลูกโซ่" กันอีกครั้ง สำหรับการกระทำผิดกฎหมายที่เรียกว่าแชร์ลูกโซ่นั้น หมายถึง การที่มิจฉาชีพชักชวนผู้คน โดยอาจเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ให้หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่ามีผลกำไรที่ดีมาก ต่างจากการลงทุนอื่นๆ โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงลิ่วในเวลาอันสั้นเป็นการจูงใจ
"แชร์ลูกโซ่" จะอาศัยการชักชวนต่อกันไปเป็นทอดๆ จากสมาชิกคนหนึ่งไปยังสมาชิกอีกคนหนึ่ง จนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนมาก โดยเงินที่ได้จากสมาชิกคนใหม่จะถูกนำไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับสมาชิกคนเก่าเป็นทอดๆ เหมือนลูกโซ่ จนในที่สุดเมื่อหาสมาชิกเพิ่มไม่ได้ หรือหมุนเงินไม่ทัน ก็จะเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน และปิดวงแชร์หนีไปในที่สุด ซึ่งในกรณีของ Forex-3D ก็เข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่เช่นกัน
- "แชร์ลูกโซ่" ผิดข้อกฎหมายอะไรบ้าง?
ข้อมูลจากรายงาน “รู้เท่าทันการเงินนอกระบบ” สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ระบุว่า ข้อกฎหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับคดีแชร์ลูกโซ่ มีอยู่หลายบทด้วยกัน ได้แก่
1. พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
มาตรา 4 : ผู้กระทำการหลอกลวงประชาชนโดยให้ชักชวนให้ลงทุน โดยนำเงินหรือทรัพย์สิน และให้ไปชักชวนคนให้นำเงินมาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง โดยผู้หลอกลวงมิได้นำเงินที่ได้มาไปประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมายเพียงแต่นำเงินที่ได้มาจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนรายเก่า
มาตรา 5 : เป็นความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนฯ ตามลักษณะของมาตรา 4
มาตรา 12 : ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
2. ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานฉ้อโกง)
มาตรา 341 : ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้น กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน)
มาตรา 343 : ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวโนวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวใน
มาตรา 342 : อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1 พันบาทถึง 1 หมื่น 4 พันบาท
- Forex-3D เทียบกับคดีแชร์ลูกโซ่อื่นๆ ในไทย ที่พบมีโทษจำคุกพันปีหรือหมื่นปี!
แม้ว่าตามข้อกฎหมายข้างต้น ระบุว่าผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปีเท่านั้น แต่ในกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ก็จะต้องเพิ่มโทษมากตามไปด้วย ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก "ว่องวิช ขวัญพัทลุง" นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายในประเด็นนี้เอาไว้ว่า
Forex-3D คือ แชร์ลูกโซ่รูปแบบหนึ่ง ที่นำชื่อของฟอเร็กซ์มากล่าวอ้างเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือเท่านั้น ส่วนเงินที่ได้มาจากลูกข่ายที่หลงเชื่อ ก็นำไปใช้ในวัตถุประสงค์อย่างอื่น ไม่ได้เอาไปเก็งกำไรผ่านการเทรดสกุลเงินแต่อย่างใด
อีกทั้งยังโฆษณาการันตีกำไรที่มากเกินกว่าการเทรดฟอเร็กซ์โดยทั่วไป ด้วยผลกำไรเดือนละ 15% และจะมากยิ่งขึ้นแปรผันตามการลงทุน ซึ่งปกตินักเทรดฟอเร็กซ์จะได้กำไรประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น จึงเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์จากประชาชน มีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 แต่หากมีผู้เสียหายจำนวนมาก ศาลก็จะพิจารณาตามจำนวนของผู้เสียหายด้วย
ยกตัวอย่างในคดีก่อนหน้านั้นกับ “คคีซินแสโชกุน” ซึ่งเป็นคดีแชร์ลูกโซ่อันโด่งดังที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ในส่วนของการกำหนดโทษนั้น ระบุไว้ว่า
“ศาลตัดสินให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) ฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบกับความผิดฐานร่วมกัน “กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” และร่วมกัน “ฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
จึงให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 5 ปี โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง รวมให้มีโทษจำคุก 4,355 ปี และปรับทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ซึ่งในส่วนของโทษจำคุกให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) จึงเหลือโทษจำคุกจำเลยสูงสุด 20 ปี
จากเคสตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่า หากกรณีคดีแชร์ลูกโซ่ “Forex-3D” มีผู้เสียหายมากกว่า 2,000 คน เมื่อพิจารณาบทลงโทษหนักสุด กระทงละ 5 ปี ก็เป็นไปได้ว่าผู้ต้องหาคดีนี้อาจโดนโทษจำคุกเป็น “หมื่นปี” ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายสามารถจำคุกสูงสุดได้ 20 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นระยะเวลายาวนานไม่น้อย
---------------------------------
อ้างอิง : “รู้เท่าทันการเงินนอกระบบ” สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, blockdit