วัดใจเฟดขึ้นดบ. กูรูการเงิน ชี้ "เงินบาทอ่อนค่า" ต่อ แต่สิ้นปีพลิก "แข็งค่า"

วัดใจเฟดขึ้นดบ. กูรูการเงิน ชี้ "เงินบาทอ่อนค่า" ต่อ แต่สิ้นปีพลิก "แข็งค่า"

"เงินบาทอ่อนค่า" ร่วงอ่อนค่าสุดรอบ16 ปี ที่ 37.10 บาทต่อดอลลาร์ เหตุกังวลเฟดกลับมาเร่งขึ้นดบ. -กังวลภาวะถดถอย "กรุงไทย"ชี้บาทผันผวนอ่อนค่าต่อแตะ 37.70 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนประชุมเฟด 21-22 ก.ย. แต่มองศก.ไทยฟื้น หนุนสิ้นปีพลิกแข็งค่าสอดรับอีไอซี มอง 35-36 บาทต่อดอลลาร์

"เงินบาทอ่อนค่า" วานนี้ (16 ก.ย. 2565 ) ทะลุแนว 37 บาทต่อดอลลาร์ โดยร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี สูงสุดที่  37.10 บาทต่อดอลลาร์ และต่ำสุดที่ 36.87 บาทต่อดอลลาร์ โดยปิดตลาดที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากเปิดตลาดที่ 36.98 ดอลลาร์   

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน "เงินบาทอ่อนค่า" เป็นอับดับ 4 ที่  9.9% เทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค อันดับ 1  เยน (ญี่ปุ่น)  อ่อนค่า 19.7% , อันดับ 2  วอน (เกาหลีใต้) อ่อนค่า  -14.4% และ อันดับ 3 .เปโซ (ฟิลิปปินส์)  อ่อนค่า -11.2 %

จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ เพียงตัวเดียวที่ประกาศออกมาช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (13 ก.ย. 2565) โดยเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ส.ค.ยังพุ่งอยู่ที่ 8.3% ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.1% ทำให้ "ตลาดมีความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย" กลับมาอีกครั้ง ที่ระดับ 0.75% หรือ 1% ในการประชุมเฟด 21-22 ก.ย.นี้

ปัจจัยดังกล่าวกดดันทุกตลาดต่างๆ ปรับตัวลงทันที ช่วงเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา "ตลาดหุ้นทั่วโลก" โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐปรับตัวลงอย่างหนัก กดดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงตาม

รวมถึงยังกดดัน ราคาน้ำมันดิบ ดิ่งลง และ ราคาทอง ย่อตัวลงต่อเนื่อง จากการที่ "ตลาดมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มมากขึ้น" 

วัดใจเฟดขึ้นดบ. กูรูการเงิน ชี้ \"เงินบาทอ่อนค่า\" ต่อ แต่สิ้นปีพลิก \"แข็งค่า\"

 

 

 

ทั้งนี้ หากประมวลภาพการเคลื่อนไหวของ "ค่าเงินบาท" นับตั้งแต่ต้นปี 2565 มานี้ จะพบว่า "เงินบาท" มีการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ 

"พูน พานิชพิบูลย์"  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ทำให้ "เงินบาทอ่อนค่า" นั้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ 

1.การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 

2. แรงซื้อเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังที่ตลาดเริ่มกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางได้  

วัดใจเฟดขึ้นดบ. กูรูการเงิน ชี้ \"เงินบาทอ่อนค่า\" ต่อ แต่สิ้นปีพลิก \"แข็งค่า\"

แต่จะเห็นได้ว่า เงินบาทก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อเนื่องทีเดียว โดยมีบางช่วงที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้บ้าง เช่น ช่วงหลังจากเดือน พ.ค. ที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางผ่านพรมแดน ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจน และยังช่วยหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจและกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิตามธีม Reopening ได้ 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจจากแนวโน้มเงินบาทในปีนี้ คือ ความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากช่วงต้นปีเงินบาทมีความผันผวนเพียง 6.3% ต่อปี เท่ากับค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา  แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินบาทผันผวนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนล่าสุด ความผันผวนของเงินบาทสูงถึง 10% ต่อปี ซึ่งมากกว่า ค่าเฉลี่ยเกือบ 2SD  

"พูน" กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เงินบาทผันผวนสูงขึ้นและส่วนใหญ่เป็นการผันผวนในฝั่งอ่อนค่า คือ "มุมมองของผู้เล่นตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไป ตามแนวโน้มของเงินเฟ้อ" 

จะเห็นได้ว่า ในช่วงการประชุมเฟดต้นปี เดือนม.ค. ตลาดยังคงมุมมองแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย 

ทว่า จุดเปลี่ยนมุมมองนโยบายการเงินเฟด ก็เกิดขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นและซ้ำเติมปัญหา Supply Chain Disruption ส่งผลให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่อง และเกือบทุกการประชุมเฟด หลังสงครามเกิดขึ้น เงินบาทมักเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ตามความกังวลของตลาดที่คาดว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 

แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างในการประชุมเฟดเดือน พ.ค.ที่เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่นานก็กลับมาแข็งค่าขึ้น ตามความหวังการเปิดประเทศ

ก่อนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกครั้ง เมื่อประเทศจีนเผชิญปัญหาการระบาด COVID-19 และใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด  ทำให้ปิดครึ่งปีแรก 2565 เงินบาทปิดตลาด ( ณ 30 มิ.ย.) อ่อนค่าที่35.36 บาทต่อดอลลาร์

วัดใจเฟดขึ้นดบ. กูรูการเงิน ชี้ \"เงินบาทอ่อนค่า\" ต่อ แต่สิ้นปีพลิก \"แข็งค่า\"

รวมถึงการประชุมเฟดเดือน ก.ค. ล่าสุด ที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลง ขณะเดียวกันภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอลงมากขึ้น ก็อาจกดดันให้เฟดไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่องได้ และอาจเริ่มลดดอกเบี้ยลงในต้นปีหน้า หรือ ในตอนนั้น ตลาดมองว่า เฟดได้ผ่านจุด Peak Hawkishness ไปแล้ว 

แต่สุดท้ายแล้ว ภาพดังกล่าวก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในช่วงเดือน ส.ค. เมื่อผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้ออีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole และ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เน้นย้ำความจำเป็นของเฟดที่ต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมเงินเฟ้อ

ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งตลาดแรงงาน ภาคการผลิต การบริการ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่างก็ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง และการลดดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว จนถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ยังมองกรอบเงินบาทระยะสั้น (ก่อนการประชุมเฟด 21-22 ก.ย.) มองแนวรับอ่อนค่าไว้ที่ 37.70 บาทต่อดอลลาร์ 

"พูน" มองว่า ความชัดเจนของแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟดจะกลับมาในการประชุมเฟดเดือนก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเฟดจะมีการเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot

ล่าสุด หาก Dot Plot ไม่ได้สะท้อนแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และเฟดมองภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลงบ้าง ก็มีโอกาสที่ เงินดอลลาร์จะเริ่มย่อตัวลงและแกว่งตัว sideways หรือไม่ได้แข็งค่าขึ้นแรงต่อเนื่อง เหมือนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  แต่ "เงินดอลลาร์" จะไม่รีบอ่อนค่าลงหนัก เพราะตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลาง ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก รวมถึงความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรป 

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ "พูน" มองว่า ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง แม้ว่าเฟดอาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ทำให้ในแง่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีโอกาสขาดดุลน้อยลงและกลับมาเกินดุลได้บ้างในช่วงปลายปี ตามรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะทยอยสูงขึ้นในช่วงไฮซีซั่น

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจากค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ ก็มีแนวโน้มลดลง ตามปัญหา Global Supply Chain ที่คลี่คลายลง และแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ดุลบัญชีเดินสะพัด อาจไม่ได้เกินดุลมาก เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอลง จะกระทบต่อยอดการส่งออกของไทยชัดเจน ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลในบางเดือนและเกินดุลไม่มากนัก

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจไทยเดินหน้าฟื้นตัวได้ดีตามคาด ก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้บ้าง แต่การซื้อหุ้นไทยจะมีความเลือกมากขึ้น (Selective Buy) เนื่องจากระดับราคาหุ้นไทยปัจจุบัน (Valuation) ถ้าพิจารณาจาก Forward P/E ที่ระดับ 15.8 เท่า ก็ถือว่า ไม่ถูกและไม่แพง จนเกินไป

นอกจากนี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เรามองว่า เป็นไปได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25-0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0.75% เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจหาจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยซื้อบอนด์ไทยได้เช่นกัน 

ดังนั้น จากปัจจัยพื้นฐานและฟันด์โฟลว์ จึงอาจพอประเมินได้ว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้บ้าง โดยเราประเมินว่า เงินบาทอาจกลับมาสู่โซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีได้อีกครั้ง แต่ต้องระวังและจับตาปัจจัยเงินดอลลาร์ที่อาจเป็นสิ่งที่สร้างความผันผวนได้ หากเงินดอลลาร์ไม่ได้เริ่มย่อตัวลงตามคาด 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย ธนาคารกรุงไทย ยังคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

EIC มองสิ้นปีนี้ บาทพลิกแข็งค่า 35-36  บาทต่อดอลลาร์ 

"สมประวิณ มันประเสริฐ"   รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์  กล่าวว่า  สำหรับค่าเงินบาทนั้น เผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า จาก 4 ปัจจัย คือ

1. การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐตามทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed และความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

2.เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินหยวนและค่าเงินภูมิภาค รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า

3.เงินทุนไหลออกจาก EMs รวมถึงไทยในช่วงที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง       

4. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึง ปี 2566 "เงินบาท" จะมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น  จาก 4 ปัจจัย คือ

1.เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

2.ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเกินดุลปลายปีนี้                               (EIC ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 จะกลับมาเกินดุลได้ที่ 1.5% ต่อ GDP)

3.เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น

4.อัตราเงินเฟ้อไทยที่จะปรับลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าลงมาอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ณ สิ้นปีนี้ และ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2566

เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป คือ
(1) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันการส่งออกและลงทุนในระยะถัดไป


(2) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากมาตรการ Zero Covid และปัญหาในภาคอสังหาฯ ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง

(3) เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากราคาโภคภัณฑ์ที่กระทบกาลังซื้อของครัวเรือน และต้นทุนในภาคธุรกิจ (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน

ดังนั้น "สมประวิณ" มองว่า บทบาทของภาครัฐ ในการดูแลกลุ่มเปราะบางยังคงมีความจำเป็นอยู่ ขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้นจากทั้งเม็ดเงินและกรอบระยะเวลาใน พ.ร.ก กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ใกล้หมดลง โดยในระยะถัดไปคาดว่าแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นไปอย่างเฉพาะจุดมากขึ้น 

'เงินบาทอ่อนค่า'ตามหยวน-ดอลลาร์แข็งค่า

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีที่ 37.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินหยวน (เงินหยวนร่วงผ่านระดับ 7 หยวนต่อดอลลลาร์ฯ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี) และการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนอย่างแข็งแกร่งจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับจังหวะขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า(19-23ก.ย.2565)  คาดไว้ที่ 36.50-37.50 บาทต่อดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน Dot Plots และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของเฟด ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติและทิศทางค่าเงินหยวน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์  

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ และ BOE การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น