"อนุสรณ์ ธรรมใจ" มองเงินบาทอ่อนค่าแตะ 37.50 บาท หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยกลางสัปดาห์นี้
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มองเงินบาทมีโอกาสแตะ 37.30/50 บาทต่อดอลลาร์ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75-1% ในการประชุมกลางสัปดาห์หน้า กดดันเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด หวั่นหาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตาม กระทบประชาชน ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ประเมินเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าปลายปี 34-35 บาทต่อดอลลาร์
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ หากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75-1% เงินบาทอาจอ่อนน่าค่าทะลุ 37.30/50 บาทต่อดอลลาร์ได้ กดดันเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง
โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน "เงินบาทอ่อนค่า" แล้ว เกือบ 10% อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี เงินทุนไหลออกจากการเร่งนำเข้าทองคำจากการที่ราคาทองคำอ่อนตัวลงในช่วงก่อนหน้านี้ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันเงินบาท นักลงทุนต่างชาติยังทะยอยเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของไทยทั้งหุ้นและตราสารหนี้
การเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของนักลงทุนต่างชาติอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงไปอีกระยะหนึ่ง เงินบาทและเงินหยวนนั้นมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) เป็นบวก คือ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันในระดับสูง
และเมื่อเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างมากไปทดสอบแนวต้านทางด้านจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ย่อมส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เงินหยวนกับเงินบาทนั้นอยู่ที่ 0.60-0.70 โดยประมาณ ทำให้เงินบาทและเงินหยวนจึงอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกัน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า หากแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 28 ก.ย.นี้ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมและเล็กเพิ่มเติมจากต้นทุนทางการเงิน ภาระหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ภาระหนี้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลงสำหรับกิจการที่ยอดขายยังไม่ฟื้นตัว
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 0.25% ในวันที่ 28 ก.ย. และ ในวันที่ 30 พ.ย. จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาอยู่ที่ 1.25% อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปลายปีจะอยู่ที่ระดับ 4% ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและไทยถ่างออกกว้างประมาณ 2.75% ย่อมกระตุ้นให้เงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นไหลออกบ้างแต่ไม่ควรวิตกกังวลและไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับ 1.25% จะมีผลต่อการจัดการเงินเฟ้อได้ไม่มาก และจะไม่ช่วยเปลี่ยนทิศทางของการอ่อนค่าของเงินบาทแต่อย่างใด
แต่หากแบงก์ชาติไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่มีการคาดการณ์กันไว้จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีก เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันจะช่วยกระตุ้นการส่งออก และเป็นผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างมากในช่วงเวลาที่มีการเปิดประเทศเต็มที่
โดยคาดว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกือบ 10 ล้านคนในปีนี้ กระแสเงินไหลเข้าจากภาคท่องเที่ยว การเกินดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเม็ดลงทุนไหลเข้าในตลาดการเงินจะทำให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปีและต้นปีหน้าที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะพลิกกลับมาเกินดุล คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 น่าจะเป็นเกินดุลได้ในระดับ 1.5-1.8% ต่อจีดีพี กลไกดอกเบี้ยมีผลน้อยมากต่อการพลิกกลับมาแข็งค่าของเงินบาท และการจัดการกับเงินเฟ้อ
การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นในตลาดการเงินและเงินลงทุนต่างชาติระยะยาวยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันเป็นผลจากการตัดสินเรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการตัดสินใจดังกล่าวจะสะท้อนว่า ประเทศไทยมีระบบนิติรัฐนิติธรรมหรือไม่ มี Rule of Law หรือไม่ Rule of Law เป็น Soft Infrastructure ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย เป็นความเข้มแข็งในเชิงสถาบันที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจภาคการลงทุนขับเคลื่อนได้ บางครั้งมากกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทางกายภาพ (Hard Infrastructure) ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลลงทุน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก สิ้นสุดการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค การจ้างงานยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้น 0.5% แม้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 8% ก็ตาม ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง ยอดขายปลีกและผลการดำเนินงานของกิจการต่างๆอยู่ในเกณฑ์ดี
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์สูง อัตราการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การแบ่งแยกอุปทานโลก (Global Supply Chain Decoupling) ยังไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อภาคการผลิตในสหรัฐอเมริกา
แนวโน้มเงินดอลลาร์จึงแข็งค่าได้อีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินบาท เมื่อพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น รายได้นอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ดัชนีอุตสาหกรรม (Industrial production) รายได้แท้จริงส่วนบุคคล (Real personal income) และ Real manufacturing and trade sales แล้วพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจต่ำมาก อัตราเฟ้อสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ฉะนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการและมีผลในการชะลอเศรษฐกิจระดับหนึ่ง
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าที่สุดในรอบ 37 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับ 1.135 ดอลลาร์ ดัชนีดอลลาร์ที่คำนวณเทียบค่ากับเงินสกุลหลักก็แตะระดับสูงสุดในรอบสองทศวรรษที่ระดับ 110.79 ช่วงต้นเดือนก.ย. ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 15% จากดัชนีดอลลาร์ในช่วงต้นปี การอ่อนตัวของเงินยูโรส่งผลต่อดัชนีดอลลาร์ หรือ US Dollar Index เพราะมีสัดส่วนในการคำนวณมากกว่า 57%
ส่วนดัชนี Trade-Weighted US Dollar Index นั้นจะคำนวณโดยรวมเอาคู่ค้าสำคัญกับสหรัฐ 26 ประเทศ โดยเงินบาทมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.096-1.408% เงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 25 ปีและอ่อนค่าลงมามากกว่า 20% นับตั้งแต่ต้นปี เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 142-143 เยนต่อดอลลาร์ และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงไม่ลดการผ่อนคลายทางการเงินหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและประคับคองการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในที่ยังอ่อนแอ
ส่วนเงินยูโรนั้นอ่อนค่าลงอย่างมากจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจยุโรป เงินหยวนอ่อนค่าลงจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากการล็อกดาวน์เป็นระยะๆ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ธนาคารกลางสหรัฐจะดึงอัตราเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) สู่ระดับ 5.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดัชนีสะท้อนอุปสงค์มวลรวมยังคงขยับตัวต่อเนื่อง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นไปจนถึงกลางปีหน้าและทรงตัวในระดับ 4.50% ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสแล้วอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้
วงจรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจยาวนานกว่าเดิมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยดึงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายระยะยาวให้มาอยู่ระดับ 2%
รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวถึง การปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV อีก 1 บาทเป็น 16.59 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนภาคขนส่ง ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อยังไม่สามารถลดลงต่ำกว่า 6% ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
ส่วนการประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปอีกสองเดือนและยืดเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันช่วยบรรเทาเงินเฟ้อได้เพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้การขาดทุนของกองทุนน้ำมันกลายเป็นภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกจากนโยบายอุดหนุนราคา และสร้างความยุ่งยากทางการคลังสำหรับรัฐบาลชุดต่อไป
และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเหลือเม็ดเงินงบประมาณน้อยลงมากในการดูแลปัญหาต่างๆ หรือพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ รัฐบาลหน้าจะเหลืองบประมาณในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่น้อยมาก คงต้องใช้นโยบายสัมปทานให้เอกชนดำเนินการ สถานการณ์อาจพลิกกลับได้หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 5-6% แต่โอกาสไม่มากนัก ยกเว้นมีนโยบายสาธารณะที่ดีมากอาจช่วยปลดปล่อยศักยภาพของเศรษฐกิจและความสามารถของคนไทยได้
หากไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจและปฏิรูปภาคการคลัง รัฐไทยจะประสบกับความยากลำบากในการจัดหางบประมาณจ่ายบำนาญพื้นฐานในอีก 5-6 ปีข้างหน้าซึ่งสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ หากจะต้องจ่ายเงินผู้สูงอายุทุกคนเดือนละ 3,000 บาท รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเกือบ 600,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2571 คิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ
ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรศึกษาการปฏิรูประบบสวัสดิการบำนาญใหม่เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยน ประชาชนในวัยทำงานและประชาชนผู้เสียภาษีในปัจจุบันลดลง ระบบ Pay As You Go เป็นระบบที่ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชนหรือผู้สูงอายุ แหล่งเงินของบำนาญจากรายได้ภาษีทั่วไปจะไม่มีความยั่งยืนทางการเงินระยะยาว ต้องปรับให้เป็นระบบ Fully Funded เป็นระบบที่เงินสะสมในกองทุนมาจากเงินสมทบของประชาชนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญ เมื่อผู้มีสิทธิเกษียณอายุจึงได้รับเงินจากกองทุน
ควรปรับให้เป็น ระบบ Defined Benefits Defined Contribution มากขึ้น และ สุดท้ายต้องปฏิรูประบบสวัสดิการโดยเฉพาะสวัสดิการบำนาญให้เป็น ระบบ Multi-Pillar Pension System หมายถึง ระบบบำนาญที่ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนหลายชั้น
- ชั้นแรก : เป็นบำนาญพื้นฐานและได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดูแล
- ชั้นสอง : เป็นระบบสวัสดิการที่เกิดจากการบังคับการออมเพื่อการชราภาพ
- ชั้นสาม : เป็นการสร้างระบบการออมเพื่อวัยเกษียณแบบสมัครใจเพื่อให้ผู้สูงวัยมีหลักประกันทางรายได้ที่สูงขึ้น
ซึ่งระบบแบบหลายชั้นตามที่เสนอนี้ รัฐบาลใหม่ ต้องดำเนินการเพื่อรองรับให้ประชาชนมีหลักประกันที่เพียงพอและมั่นคงท่ามกลางความเสี่ยงทางการเงินที่ระบบบำนาญจะไม่มีเงินพอจ่ายจากสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาความยากจนในวัยชราจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากและแก้ไขยากเพราะมีมิติปัญหาเชิงโครงสร้างซ้อนกันอยู่ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำสูง และโครงสร้างประชากรสูงวัย
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลหรือพรรคการเมืองไม่ควรดำเนินนโยบายประชานิยมแบบขาดความรับผิดชอบ ควรหลีกเลี่ยงมาตรการต่างๆในระยะสั้นเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนและฐานะการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว
นโยบายสาธารณะต้องยึดประโยชน์ระยะยาว การแก้ พ.ร.บ. กองทุน กยศ หรือ ทบทวนกฎหมายกัญชา ฐานคิดและหลักการของนโยบายต้องชัด มองผลดีผลเสียรอบด้าน หากผู้กู้กองทุน กยศ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายค่าปรับตามข้อเสนอของเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ พ.ร.บ. กองทุน กยศ จะทำให้กองทุน กยศ สิ้นสภาพการเป็นกองทุนหมุนเวียนได้ในเวลาไม่เกิน 5-6 ปีอย่างแน่นอน คือ ต้องปิดกองทุนไปหากรัฐบาลไม่ใส่เงินงบประมาณเข้ามาเพิ่มให้เพียงพอ ทำให้คนรุ่นหลังขาดโอกาสทางการศึกษาได้
หากต้องการให้กองทุน กยศ เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาลจำเป็นต้องมีการคิดอัตราดอกเบี้ย แต่สามารถคิดในอัตราต่ำพิเศษเพื่อช่วยเหลือ และคงต้องมีค่าปรับเพื่อรักษาวินัยทางการเงิน หากแก้ไขกฎหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดการกองทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเลย ก็ต้องให้กองทุนได้รับงบประมาณอุดหนุนทุกปีอันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมของ กองทุน กยศ
ส่วน พ.ร.บ. กัญชา ต้องกำหนดให้ “กัญชาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ” เท่านั้น ไม่ควรเปิดให้ใช้ในทางสันทนาการหรือผสมอาหารและเครื่องดื่ม การนำกฎหมายกลับไปทบทวนให้รอบคอบจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการกำหนดนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นได้เสมอ โดยมีข้อสังเกตดังนี้
ประการแรก : การกำหนดนโยบายจำนวนไม่น้อยไม่มีงานวิจัยหรือหลักการทางวิชาการสนับสนุนแต่เกิดจากความเชื่อและความต้องการของผู้นำ หลายครั้งเป็นเพียงนโยบายประชานิยมแบบขาดความรับผิดชอบเอาใจฐานเสียง เป็นการมุ่งหาเสียง มากกว่า มุ่งบริหารประเทศ หรือ บางทีอาจมีการศึกษาวิจัยตามใบสั่งจึงไม่ใช่งานวิชาการอย่างแท้จริงเป็นเพียงเครื่องมือให้การรองรับนโยบายที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น ในหลายกรณีจึงไม่ได้พิจารณาผลกระทบของนโยบายและต้นทุนของนโยบายอย่างครบถ้วนรอบด้าน
ประการที่สอง : ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ หรือถ้ามีก็เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น นโยบายสาธารณะจึงเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายราชการเป็นส่วนใหญ่ เป็นประชาธิปไตยตัวแทนแบบนาทีเดียวผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้เป็น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) หรือ ประชาธิปไตยแบบผนวกรวมประชาชนทุกกลุ่ม (Inclusive Democracy)
ประการที่สาม : นโยบายสาธารณะส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจและการได้โอกาสของคนบางกลุ่มในขณะที่คนส่วนใหญ่เสียโอกาสและเสียเปรียบ
ประการที่สี่ : ขาดกระบวนการในการประเมินผลกระทบ เมื่อนโยบายสาธารณะได้ดำเนินการไปแล้ว ขาดกลไกในการประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตัดสินใจในนโยบาย นอกจากนี้ยังขาดระบบการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลในนโยบาย จะเกิดการพอกพูนของปัญหา หากนโยบายสาธารณะนั้นๆ ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ประการที่ห้า : ปัญหาการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกิดจากปัญหาตัวแทน (Agency Problem) ในตลาดการเมือง โดยที่ตัวแทน (ผู้มีอำนาจรัฐ-นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหรือนักการเมืองจากระบอบอำนาจนิยม) อาจไม่ทำตามความต้องการของประชาชนหรือมีนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของตัวการ (ประชาชน) เป็นปัญหาตัวการ-ตัวแทน (Principal-agent problem) ความสัมพันธ์แบบการเป็นตัวแทน (Agency Relationship) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่บุคคลหรือกลุ่มหนึ่ง (ผู้มีอำนาจรัฐ/นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง) จะกระทำการในนามของบุคคลหรืออีกกลุ่มหนึ่ง (ประชาชน/ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) นั้น จะนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพ
ยิ่งในระบอบอำนาจนิยม ระบอบรัฐประหารด้วยแล้ว ปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงหลายเท่า เพราะไม่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของประชาชนอีกด้วย ภาวะข้อมูลข่าวสารไม่เท่าเทียมกัน (Asymmetric Information) ระหว่างตัวแทนกับตัวการเป้าหมายของตัวแทน (นักการเมือง) และ ตัวการ (ประชาชน) อาจขัดแย้งกันหรือแตกต่าง ประชาชนมีต้นทุนในการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมของนักการเมืองสูง นักการเมืองอาจตอบสนองต่อกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าประชาชนผู้ออกเสียง หรือ พรรคการเมืองอาจไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ตัวเองนำเสนอเอาไว้ ความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายอาจไม่มีอยู่ อาจมีการตอบสนองอุปสงค์ต่อผลของนโยบายที่แสดงผลในระยะสั้น
ประการที่หก : นโยบายสาธารณะที่ไม่ดีที่สร้างปัญหาจำนวนหนึ่งเป็นผลจากการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) การแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจเกิดจากการที่บุคคลหรือเอกชนใดใช้อำนาจอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐเพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนตน โดยใช้การผูกขาดอำนาจของราชการกับรัฐบาล เป็นการแลกเปลี่ยนส่วนเกินทางเศรษฐกิจเพื่อการสนับสนุนทั้งด้านการเมืองและการเงิน
นโยบายสาธารณะที่เกิดจากแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจทำให้เกิดต้นทุนต่อสังคม เกิดการสูญเสียประโยชน์ (Deadweight loss) หรือ การออกข้อกำหนดที่มีผลต่อการกีดกันการแข่งขัน การลงทุนซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนเพื่อรักษาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจะเกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ