เซ็นแล้ว! "ธนารักษ์-วงษ์สยามก่อสร้าง" พัฒนาท่อส่งน้ำอีอีซี สัญญา 30 ปี 2.5 หมื่นล้าน
กรมธนารักษ์ เซ็นสัญญา วงษ์สยาม ก่อสร้าง เพื่อดำเนินโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีแล้ววันนี้ รับเงินเข้าหลวงทันทีกว่า 620 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะได้รับเงิน 2.5 หมื่นล้าน ด้าน "วงษ์สยาม" หั่นค่าน้ำอุปโภคบริโภคเหลือ 9.50 บาท จาก 9.90 บาท และค่าน้ำภาคอุตสาหกรรม คิดไม่เกิน 12.40 บาท
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า วันนี้(23ก.ย.) กรมฯ ได้ทำการเซ็นสัญญา กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในฐานะผู้ชนะประมูลโครงการบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกหรือ "ท่อน้ำอีอีซี" หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำฟ้องคำร้องคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.)
เขากล่าวว่า กรมฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินการเซ็นสัญญาดังกล่าว หลังจากที่ได้มีการเลื่อนการเซ็นสัญญาไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนพ.ค.2565 หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูล และครั้งที่สอง ในเดือนส.ค.2565 หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งฉุกเฉินให้ระงับการเซ็นสัญญา
“เรามีความพร้อมในการเซ็นสัญญาทันที เพราะเราได้เตรียมการเซ็นสัญญามาแล้วถึง 2 ครั้ง เมื่อศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องการคุ้มครองชั่วคราว เราก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องชะลอการลงนาม และถ้าเราไม่เซ็นสัญญา รัฐก็จะเสียประโยชน์ และรวมถึง เอกชนที่เป็นชนะการประมูลด้วย”
เขายืนยันด้วยว่า การดำเนินโครงการประมูลครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างครบถ้วน โดยปฏิบัติตามการพิจารณาของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ
ทั้งนี้ การเซ็นสัญญาดังกล่าวถือเป็นมติในการผูกพันการดำเนินโครงการระหว่างกรมฯ กับบริษัท แต่บริษัทยังไม่สามารถเข้าไปบริหารโครงการได้ โดยจะเข้าไปดำเนินการบริหารได้ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัทแล้ว
โดยนับจากนี้ กรมฯ จะส่งหนังสือไปยังบริษัท อีสท์วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการในปัจจุบันให้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมฯ โดยเฉพาะท่อส่งน้ำที่ไม่มีสัญญาเช่า คือ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ และ หนองค้อ - แหลมฉบังระยะที่ 2 ส่วนโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ซึ่งมีสัญญาเช่านั้น จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.2566
สำหรับการประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ดังกล่าว มีระยะเวลาการเช่าจำนวน 30 ปี ให้ผลตอบแทนแก่รัฐรวมประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.ค่าแรกเข้าจำนวน 1,450 ล้านบาท ชำระครั้งแรกในการเซ็นสัญญาจำนวน 580 ล้านบาท และเมื่อส่งมอบทรัพย์สินอีก 870 ล้านบาท 2.ผลประโยชน์ตอบแทนรายปีๆ ละ 2,908 ล้านบาท และ 3.ส่วนแบ่งรายได้รายปีๆ ละ 21,335 ล้านบาท
“อย่างไรก็ดี ในวันนี้กรมฯ จะได้รับเงินทันทีจากค่าแรกเข้า 580 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรายปี 44 ล้านบาท และ หลักทรัพย์ประกัน 118 ล้านบาท หากคิดเฉพาะรายได้เราจะมีเงินเข้าหลวงกว่า 620 ล้านบาท”
เขากล่าวด้วยว่า ในแง่ความเสียหายในช่วงที่กรมฯ ไม่สามารถดำเนินการเซ็นสัญญากับวงษ์สยามก่อสร้างได้ กรมฯ จะดำเนินการฟ้องร้องกับอีสท์วอเตอร์ในฐานะผู้ร้องหรือไม่นั้น กรมฯ จะต้องพิจารณา และหารือกับอัยการสูงสุดก่อน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ยังมีคดีที่อีสท์วอเตอร์ฟ้องร้องต่อศาลในเรื่องของการยกเลิกกระบวนการคัดเลือก ครั้งที่ 1 และ การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลใน ครั้งที่ 2 ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเห็นด้วยกับคำฟ้องร้องนั้น การเซ็นสัญญากับวงษ์สยามจะต้องถือเป็นโมฆะ แต่กรมฯ ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายแก่บริษัท วงษ์สยาม ที่ได้เข้ามาดำเนินโครงการ เพราะในสัญญาได้เขียนไว้ชัดเจนแล้ว
นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า การลงนามในสัญญาครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน โดยโครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย, โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบับ ระยะที่ 2 โดยการลงนามในวันนี้ จ่ายเงินค่าแรกเข้า 580 ล้านบาท ส่วนอีก 870 ล้านบาท จะจ่ายเมื่อวงษ์สยามฯ ได้เข้าไปดำเนินการบริหารโครงการอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ วงษ์สยาม มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามสัญญา ซึ่งขณะนี้ได้สั่งนำเข้าอุปกรณ์เพื่อดำเนินการตามสัญญาไว้หมดแล้ว เมื่อกรมธนารักษ์ส่งมอบทรัพย์สิน ก็พร้อมจ่ายน้ำให้กับผู้ใช้น้ำ ในเบื้องต้นได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับการประปาภูมิภาค (กปภ.)แล้ว จะคิดค่าน้ำสำหรับอุปโภค - บริโภคในอัตรา 9.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ซึ่งถูกกว่าสัญญาปัจจุบันที่ขายน้ำให้กับ กฟภ.ที่ 9.90 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ การจำหน่ายน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรม ราคาน้ำจะไม่เกิน 12.40 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ตลอดอายุสัญญา 30 ปีเช่นกัน จากปัจจุบันผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมจ่ายค่าน้ำแตกต่างกันมีตั้งแต่ 11-26 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้นเมื่อวงษ์สยาม ได้เข้ามาเป็นผู้จ่ายน้ำอย่างเป็นทางการ จะปรับค่าน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมเหลือไม่เกิน 12.40 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้ประสานผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมไว้เบื้องต้นแล้ว
“วงษ์สยาม จะไม่ขึ้นราคาค่าน้ำ ยกเว้นจะมีการแก้ไขประกาศของกรมชลประทาน ตาม พ.ร.บ.กรมชลประทาน ปรับเพิ่มขึ้นค่าน้ำดิบ ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าน้ำเช่นกัน โดยไม่นำปัจจัยค่าครองชีพ ต้นทุนที่สูงขึ้นมาพิจารณา เพราะตลอดอายุสัญญา วงษ์สยามจะไม่ขึ้นค่าน้ำมัน ยกเว้นกรณีดังกล่าวเท่านั้น”
สำหรับกรณีที่มีการฟ้องร้อง และคดียังอยู่ในการพิจารณาศาล เกี่ยวกับขบวนการประมูลไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใสนั้น หากส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับวงษ์สยาม ก็พร้อมชี้แจงตามเอกสารหลักฐานครบถ้วน ส่วนกรณีที่มีการไปยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ทางกรมธนารักษ์ ต้องไปชี้แจง ไม่เกี่ยวกับวงษ์สยาม แต่หากป.ป.ช. ให้วงษ์สยามไปชี้แจง ก็พร้อมชี้แจงเช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์