ส่องเทรนด์คนไทยพร้อมเที่ยว สไตล์ไหนที่ใช่..แนวไหนที่โดนใจ
EIC วิเคราะห์ส่องเทรนด์การท่องเที่ยวคนไทยสไตล์ไหนที่ใช่ หลังโควิดพบมีแนวโน้มเที่ยวใน และต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยคนไทยราว 85% วางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อมีผลต่อยอดการใช้จ่ายที่ลดลง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจหรือ Economic Intelligence Center:EIC ออกบทวิเคราะห์หัวข้อ ส่องเทรนด์คนไทยพร้อมเที่ยว สไตล์ไหนที่ใช่..แนวไหนที่โดนใจ โดยระบุว่า ผลสำรวจผู้บริโภคในด้านการท่องเที่ยวของ EIC พบว่า โดยภาพรวมคนไทยมีแนวโน้มท่องเที่ยวในประเทศ และต่างประเทศ เพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า อีกทั้ง คนไทยที่มีแนวโน้มเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกยังคงเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น และในแต่ละกลุ่มยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้งกลุ่ม Generations และกลุ่มที่เดินทาง เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวลง
คนไทยวางแผนท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และอุปสงค์คงค้างของการท่องเที่ยว (Pent-up demand) อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวลง
ทั้งนี้ คนไทยมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในช่วงก่อนเกิดโควิด คนไทยกว่า 88% เดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และราว 20% เดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า 5 ครั้งต่อปี ซึ่งวิกฤติโควิดที่ผ่านมาด้วยความกังวลด้านสุขอนามัย และมาตรการจำกัดการเดินทางส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยว
โดยหลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ในช่วงต้นปี 2565 คนไทยเริ่มทยอยออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
โดยคนไทยราว 85% วางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกที่คนไทยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความกังวลด้านสุขอนามัยอาจส่งผลให้ความถี่ในการท่องเที่ยวลดลง
ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ผู้ประสบปัญหาด้านรายได้มีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง โดยราว 1 ใน 4 ของผู้ประสบปัญหารายได้ลดลง และผู้มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายบ่อยครั้ง ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ผู้ประสบปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่ยังเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า แม้ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และรายจ่าย แต่คนไทยยังมี Pent-up demand ของการท่องเที่ยวอยู่ค่อนข้างสูง
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มักจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพื่อการพักผ่อนกับครอบครัว และเลือกแหล่งท่องเที่ยวจากความสะดวกในการเดินทางเป็นหลัก
คนไทยส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนกับครอบครัว และ 2 ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเลือกแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ความสะดวกในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยด้านสุขอนามัยยังเป็นปัจจัยที่คนไทยคำนึงค่อนข้างสูงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม Baby boomer ขณะที่ปัจจัยทางด้านราคาทั้งค่าใช้จ่าย และส่วนลดโปรโมชันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Y อีกทั้ง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังนิยมเลือกแหล่งท่องเที่ยวจากร้านอาหารอร่อย ร้านคาเฟ่ และจากสื่อ Social media ค่อนข้างสูง
โรงแรม 4-5 ดาวยังเป็นรูปแบบที่พัก ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกใช้บริการ โดยที่พักที่ใกล้ชิดธรรมชาติจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจ และกลุ่ม Baby boomer ตามด้วยโรงแรม 2-3 ดาว ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มคนโสด และกลุ่มเข้าพักเป็นคู่/คู่รัก ขณะที่ ที่พักที่มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างเช่น ลานกางเต็นท์/รถบ้าน และที่พักตากอากาศ/คอนโดมิเนียมให้เช่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวราว 1 ใน 3 ยังมองหาที่พักที่ให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และที่พักที่มีอุปกรณ์ทันสมัยอีกด้วย
แพลตฟอร์มผู้ให้บริการจองที่พักออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการท่องเที่ยว แต่ช่องทางการติดต่อกับผู้ให้บริการที่พักโดยตรงยังเป็นช่องทางสำคัญที่นักท่องเที่ยวเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับผู้ให้บริการที่พักผ่านทาง Social media โทรศัพท์ หรือทางเว็บไซต์ โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่จะจองที่พักผ่านทางแพลตฟอร์มผู้ให้บริการออนไลน์เป็นหลักในกลุ่มที่พักโรงแรมระดับ 2 ดาวขึ้นไป และเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ขณะที่โรงแรมต่ำกว่า 2 ดาว โฮสเทล และที่พักที่มีลักษณะเฉพาะนักท่องเที่ยวมักเข้าพักโดยไม่ได้จองล่วงหน้า (Walk-in)
การท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งแม้คนไทยบางส่วนจะวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ก็ยังท่องเที่ยวในประเทศเท่าเดิมหรือมากขึ้นด้วย
คนไทยมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่วางแผนเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มวางแผนท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในช่วง 1-2 ปีก่อนเกิดวิกฤติโควิด คนไทยราว 40% เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ซึ่งหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศลง 65% ของคนไทยกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นปกติเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี แม้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศบ้างแล้วแต่ราว 90% ยังเตรียมที่จะท่องเที่ยวในประเทศเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น
นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่วางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเองโดยประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z และ Gen Y กับกลุ่มที่มีรายได้สูงจะเป็นกลุ่มที่เตรียมออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นกลุ่มแรกๆ และส่วนใหญ่จะวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเอง ขณะที่กลุ่ม Baby boomer และกลุ่ม Gen X มีแนวโน้มเริ่มออกเดินทางเป็นกลุ่มถัดมา สาเหตุหนึ่งมาจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิดในต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ ทั้งนี้เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังนิยมท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์เป็นหลัก
จากผลสำรวจข้างต้น การให้ความสำคัญต่อความต้องการพื้นฐานของนักท่องเที่ยวควบคู่ไปการเข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีความหลากหลายถือเป็นแนวทางสำคัญสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในการปรับกลยุทธ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น
โดยภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญต่อความต้องการพื้นฐาน 3 ด้านหลักของการท่องเที่ยวของคนไทย ได้แก่ 1. การพักผ่อน 2. ความสะดวกในการเดินทาง และ 3. ที่พักใกล้ชิดธรรมชาติ อีกทั้ง ยังต้องเข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายมากขึ้น และในแต่ละกลุ่มยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้งกลุ่ม Generations และกลุ่มที่เดินทาง
ทั้งนี้ กลยุทธ์การตลาดอย่างการโปรโมตออนไลน์ และการจัดโปรโมชัน เป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถเข้าถึงและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางหลักที่นักท่องเที่ยวเลือกใช้
อีกทั้ง ปัจจัยด้านราคายังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว การใช้กลยุทธ์ Omni-channel เพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลายทั้งผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการออนไลน์ และช่องทางของผู้ให้บริการที่พักเองเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้ช่องทางที่ตรงกับความต้องการได้มากที่สุด การสร้างประสบการณ์ความทรงจำที่พิเศษแก่นักท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ และมีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างมากขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่องยังมีความจำเป็นเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีความกังวลด้านสุขอนามัยอยู่ค่อนข้างสูง อีกทั้ง ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มความสำคัญในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นจากกระแสรักษ์โลกของนักท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่ให้ความสำคัญในด้านนี้เพิ่มสูงขึ้น และจะเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักในระยะข้างหน้า
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์