ทิศทางอนาคต "ค่าเงินบาท" | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เมื่อต้นปีนี้เราต้องใช้เงิน 33 บาทเพื่อแลกเงิน 1 เหรียญสหรัฐ 9 เดือนต่อมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปเป็น 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์หรืออ่อนค่าลงไปประมาณ 15%
ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า เป็นเพราะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปเมื่อเทียบกับเงินทุกสกุลของโลกและเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เงินปอนด์ของอังกฤษและเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงไปมากกว่า 20% ในขณะที่เงินวอนของเกาหลีใต้และเงินยูโรก็อ่อนค่าลงไปมากกว่าเงินบาท
ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือใน อนาคตเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ
1.ในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้าก็เป็นไปได้สูงว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปอีก เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
เพราะธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยข้อมูลว่า โดยเฉลี่ยคณะกรรมการนโยบายการเงินขอสหรัฐต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกจาก 3.25% ในขณะนี้ไปอยู่ที่ 4.25-4.50% ภายในปลายปีนี้
และจากนั้นก็อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกเป็น 4.75% ในปีหน้าและทิ้งเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวทั้งปีหน้า แปลว่าเป็นการอ่อนค่าของเงินบาทเพราะเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับเงินสกุลเกือบทุกสกุลเป็นหลักในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้า
2.แต่ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านั้น น่าจะคาดการณ์ได้ว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อไปได้อีกเทียบกับเงินดอลลาร์ ไม่ใช่เพราะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่จะต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของไทยเอง
ปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ
1.ส่วนต่างของดอกเบี้ยซึ่งจะบ่งชี้การไหลเข้าหรือออกของดุลบัญชีเงินทุน
2.การขาดดุลหรือเกินดุลของบัญชีเดินสะพัด (การซื้อสินค้าและบริการสุทธิของไทยในตลาดโลกว่าจะเป็นลบหรือบวก)
3.การคาดการณ์และความมั่นใจ (sentiment and confidence) ของตลาดในแนวโน้มและนโยบายของเศรษฐกิจไทย
ตัวเลขจริงที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จาก ธปท.นั้นมีดังปรากฏในสองตารางข้างล่าง
เริ่มจากบรรทัดแรกของตารางที่ 1 คือดุลการค้านั้นจะเห็นได้ว่าดุลการค้าของไทยถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือในปี 2021 นั้น ไทยเกินดุลการค้าเกือบ 40,000 ล้านเหรียญหรือ 10,000 ล้านเหรียญต่อไตรมาส
แต่มาในปี 2022 นี้ การเกินดุลลดลงเหลือ 5,170 ล้านเหรียญในไตรมาส 2 และในเดือนกรกฎาคม ขาดดุล 400 ล้านเหรียญเพิ่มขึ้นเป็น 1,030 ล้านเหรียญในเดือนสิงหาคม (ตัวเลขล่าสุด)
หากรวมดุลบัญชีบริการเพื่อดูดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ดูไม่ดีเลย กล่าวคือปี 2021 ขาดดุล 10,350 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเป็นขาดดุลสูงถึง 10,660 ล้านเหรียญในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้และเฉลี่ยเกือบ 4,000 ล้านเหรียญต่อเดือนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม
(สมัยก่อนหากขาดดุลบัญชีมากเช่นนี้ ธปท.จะปรับดอกเบี้ยอย่างทันที) ทำให้ในช่วงมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปแล้ว 18,300 ล้านเหรียญ
หากประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยเดือนละ 3,000 เหรียญในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ก็จะทำให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรวมทั้งปี 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 6% ของ GDP
ต่อมาก็ควรไปดูดุลเงินทุน (Financial account balance) แต่ข้อมูลมีไม่ครบ (ไม่มีตัวเลขเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม) จึงต้องหันมาดูชำระเงินโดยรวม (Balance of payment)
ซึ่งพอสรุปได้ว่าขาดดุลปีที่แล้ว 7,100 ล้านเหรียญและในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลชำระเงินไปแล้ว 9,610 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างมากและขาดดุลชำระเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
หันมาดูตารางที่ 2 คือการขยายตัวของการส่งออก การนำเข้าและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย (เป็นตัวเลขจาก ธปท.เช่นกัน) ก็จะเห็นว่าการส่งออกของไทยนั้นน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวลดลงเหลือประมาณ 5-6% ใน 3-6 เดือนข้างหน้า (หรือขยายตัวต่ำกว่านั้นในปลายปีนี้และปีหน้า เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก)
ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการนำเข้ายังไม่มีแนวโน้มลดลงเลยในปี 2022 นี้ ทำให้น่าจะเชื่อได้ว่าประเทศไทยจะขาดดุลการค้าต่อไป กล่าวคือมูลค่าส่งออกสินค้าน่าจะอยู่ที่ 23,00-24,000 เหรียญต่อเดือน แต่การนำเข้าสินค้ามูลค่า 24,00-25,000 เหรียญต่อเดือน
การที่ดุลชำระเงินของไทยจะปรับตัวดีขึ้นนั้นจึงไม่สามารถพึ่งพาดุลการค้าหรือดุลเงินทุนได้ (เพราะส่วนต่างของดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น) แต่ต้องพึ่งพาการเพิ่มขึ้นมากๆ ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.58 ล้านคนในไตรมาส 2 และตัวเลขเพิ่มเป็น 1.12 ล้านคนในเดือนกรกฎาคมและ 1.17 ล้านคนในเดือนสิงหาคม
การที่เงินบาทอ่อนค่าลงมากในเดือนกันยายนที่ผ่านมาน่าจะสะท้อนว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ดังนั้น จึงต้องคาดหวังว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และไตรมาส 1 ของปีหน้าจะต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก
เช่น 1.75 ล้านคนต่อเดือน แต่เมื่อผ่านฤดูท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ต้องลุ้นว่าไตรมาส 2 ของปีหน้านั้น ประเทศไทยจะสามรถแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลชำระเงินได้หรือไม่ครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร