ทำไมการแทรงแซงค่าเงินถึงไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป
ในภาวะปัจจุบันที่ดอลลาร์ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ค่าเงินสกุลหลักที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดสกุลเงินหนึ่ง หนีไม่พ้นค่าเงินเยนญี่ปุ่น ที่ ณ จนถึงปัจจุบันอ่อนค่าไปแล้วกว่า 20% เมื่อนับจากต้นปี สูงที่สุดในบรรดากลุ่มสกุลเงินหลัก (G-10) ทำให้ในที่สุดธนาคารกลางญี่ปุ่นจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อดูแลเสถียรภาพและชะลอแนวโน้มการอ่อนค่า
ข่าวการแทรกแซงค่าเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือน ก.ย. เพื่อลดแรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินเยน นับเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้เงินราวๆ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าแทรกแซงโดยการขายเงินดอลลาร์ และซื้อเงินเยนเพื่อชะลอแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเยน แถวๆ ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยนแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้น ก่อนที่ท้ายที่สุดเงินเยนจะกลับมาอ่อนค่าและล่าสุดอ่อนค่าลงมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
ประโยชน์สำคัญของการแทรกแซงค่าเงิน คือ การลดความผันผวนซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในเรื่องของภาคธุรกิจที่เสถียรภาพของค่าเงินจะส่งผลให้ต้นทุนแฝงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการทำธุรกิจลดลง รวมถึงการลดความกังวลของนักลงทุนที่อาจจะนำมาซึ่งการไหลออกของเงินทุนเฉียบพลันซึ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดการเงินโดยรวมได้
อย่างไรก็ตามการแทรกแซงค่าเงินมาพร้อมกับต้นทุนและเรื่องที่ต้องพิจารณา และในภาวะปัจจุบันดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักเสมอไป
ประเด็นแรกคือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตลาดที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสกุลเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่เปิดให้แลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระเสรีโดยที่ไม่ต้องมีธุรกรรมรองรับ จากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS)
ล่าสุดที่มีการสำรวจในปี 2019 พบว่าปริมาณซื้อขายโดยเฉลี่ยรายวันของเงินเยนอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 17% ของธุรกรรมในอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดของโลก) ซึ่งไม่มีทางที่การแทรกแซงต่อเนื่องในระยะยาวสำหรับธนาคารกลางจะมีเสถียรภาพ (ในส่วนของเงินบาทปริมาณธุรกรรมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่อวัน)
โดยการแทรแซงจะทำในทางตรงกันข้ามกับกระแสเงิน ณ ขณะนั้นๆ ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการแทรกแซงเพื่อรักษาระดับใดระดับหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ที่ธนาคารกลางทำก็ทำไปเพื่อชะลอแนวโน้มลงบางส่วน ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว แต่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจต่อเนื่องก็ทำให้ต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งธนาคารกลางจำเป็นจะต้องพิจารณาต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างถี่ถ้วน ซึ่งบ่อยครั้งประโยชน์ที่ได้รับอาจจะเป็นการยากที่วัดในเชิงปริมาณเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นการแทรกแซงค่าเงินยังมีต้นทุนในการบริหารจัดการ โดยหลักจากธนาคารกลางแทรกแซงค่าเงิน ก็จะต้องบริหารจัดการสภาพคล่องของตลาดการเงินในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการเงินในประเทศ เช่น การแทรกแซงด้วยการขายเงินดอลลาร์ และซื้อเงินเยนกลับของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ก็จะทำให้สภาพคล่องของเงินเยนในระบบหายไปบางส่วน ซึ่งธนาคารกลางก็อาจจำต้องชดเชยสภาพคล่องส่วนนี้ผ่านทางเครื่องมือต่างๆ ที่ธนาคารกลางมี เช่น การปรับสัดส่วนการดำรองสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement) ของธนาคารพาณิชย์ หรือ การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations) เช่น การปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลหมดอายุโดยไม่มีการ Rollover การออกพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังที่น้อยลง หรือการทำธุรกรรมผ่านตลาด FX Swap เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารกลางและภาวะตลาดเงินในแต่ละช่วงเป็นสำคัญ แต่การดูดซับสภาพคล่องหรือปล่อยสภาพคล่องก็มีต้นทุนด้านดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยว
นอกจากนั้นการแทรกแซงในด้านอ่อนค่าของเงินท้องถิ่นก็ทำให้ธนาคารกลางต้องขายสินทรัพย์ต่างประเทศออกมาเพื่อใช้ในการจัดการ เช่น การขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (แม้ว่าในรอบนี้จะไม่พบแรงขายในส่วนนี้จากธนาคารกลางญี่ปุ่น) เพื่อนำเงินดอลลาร์ มาขายในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและซื้อเงินเยนเพื่อให้เยนแข็งค่าขึ้น
โดยหากการแทรงแซงมีขึ้นต่อเนื่อง ก็จะทำให้เงินสำรองทางการลดลงและก่อให้เกิดความไม่มั่นในของนักลงทุนและนำมาซึ่งความไม่มีเสถียรภาพได้ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีเงินสำรองทางการ 1.12 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าจะดูเยอะก็เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยมีเงินสำรองสูงสุดที่ 1.32 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงกลางปี 2020
ก็นับว่าลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ (แม้ว่าส่วนใหญ่จะเกิดจากการตีมูลค่าของเงินสำรองจากมูลค่าสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มพันธบัตรที่ราคาปรับตัวลดลงจากดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น) นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการตีราคาสินทรัพย์ที่อาจจะทำให้งบดุลของธนาคารกลางเกิดกำไรหรือขาดทุนจากส่วนต่างของระดับราคาที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแทรงแซงดูแลค่าเงินมาพร้อมกับต้นทุน ซึ่งก็น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ สำหรับในรอบนี้เราคงต้องจับตาดูแนวโน้มของค่าเงินเยนกันต่อไป ซึ่งเป็นตัวสะท้อนที่ดีของภาวะตลาดการเงินในปัจจุบันทีค่อนข้างจะอยู่ในภาวะที่เราไม่ได้พบเจอกันบ่อยนักครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด