ThaiBMA จับตา 'หุ้นกู้ไฮยีลด์' ความเสี่ยงเพิ่ม ในภาวะดบ.ขาขึ้น-ศก.โลกถดถอย

ThaiBMA จับตา 'หุ้นกู้ไฮยีลด์' ความเสี่ยงเพิ่ม  ในภาวะดบ.ขาขึ้น-ศก.โลกถดถอย

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย จับตาความเสี่ยงหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ หวั่นเกิดปัญหาผิดนัดชำระ หลังดอกเบี้ยตลาดโลกสูงขึ้น กดดันต้นทุนการเงินเพิ่ม เชื่อยังอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ พร้อมย้ำยังไม่พบสัญญาณน่ากังวล

สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เริ่มสูงขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังเดินหน้าในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีผลต่อผู้ออกตราสารหนี้เช่นกัน 

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) เปิดเผยว่า ประเด็นเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย และดอกเบี้ยขาขึ้น อาจกระทบต่อแผนการออกหุ้นกู้ใหม่ของภาคเอกชนได้ โดยเฉพาะรายที่ออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม(rollover) เพราะจะมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ หุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง(ไฮยีลด์บอนด์) ที่อาจจะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาได้เช่นกัน 

 

ThaiBMA จับตา \'หุ้นกู้ไฮยีลด์\' ความเสี่ยงเพิ่ม  ในภาวะดบ.ขาขึ้น-ศก.โลกถดถอย

ทางสมาคมฯ มองว่า ยังเป็นเพียงปัจจัยที่ต้องติดตาม แต่เชื่อมั่นว่า จะอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ ทั้งผู้กำกับดูแล ผู้ออกและผู้ซื้อ ขณะเดียวกันตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณหุ้นกู้ไฮยีลด์ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติม จากปัจจุบันเหลือเพียง 2-3 รายเท่านั้น ซึ่งรายเหล่านี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา ยังไม่มีความกังวล  

ถึงแม้ผู้ออกในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อาจมีความเสี่ยงดังกล่าวมากขึ้น แต่พบว่า หุ้นกู้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนเป็นเป็นหุ้นกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีสัญญาณเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นยังส่งผลดีต่อภาคเอกชนต่อเนื่อง  ประกอบกับปีหน้าจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ กลุ่มนักลงทุน รายใหญ่และสถาบันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) กำหนดนอกจากมีเงินแล้วยังต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากก่อน เป็นการปกป้องไม่ให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวกับผู้ลงทุนรายย่อย

นายสมจินต์ กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า ทำให้ภาคเอกชนยังเดินหน้าออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุน  คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้  จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้เอกชน อีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท  จากช่วงที่ผ่านมามีเอกชนยื่นไฟลิ่งเสนอขายแล้วไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าหุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดในไตรมาสสุดท้ายปีนี้อีก 1.3 แสนล้านบาท 

 ดังนั้นมั่นใจว่า ปี 2565 เป็นปีที่ 3 ที่ยังคงมูลค่าการออกหุ้นกู้ทะลุ 1ล้านล้านบาท หรือ ไม่ต่ำกว่า 1.2-1.3 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามที่ได้คาดการณ์ไว้  

สำหรับ 9 เดือนแรกปีนี้  มีมูลค่าที่ 9.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวปีก่อน หรือคิดเป็น 96% ของมูลค่าการออกในปีที่แล้วทั้งปี นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไป (PO) ในรูปแบบของหุ้นกู้ดิจิทัลเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น โดยใน 9 เดือนแรกปีนี้ มีหุ้นกู้ดิจิทัลเสนอขายรวมกัน 9 รุ่น รวมกับที่เสนอขายครั้งแรกไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้จนถึงปัจจุบัน มีหุ้นกู้ดิจิทัลเสนอขายบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ทั้งหมด 10 รุ่น มูลค่ารวม 31,095 ล้านบาท ถือเป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ที่เพิ่มโอกาสการลงทุนตราสารหนี้ให้ผู้ลงทุนทั่วไป

ขณะเดียวกันทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและความเสี่ยงปีหน้าเพิ่มขึ้น ทำให้ภาครัฐและเอกชน มีต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ต้องมีการชดเชยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลมีต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 1 % กว่า และหุ้นกู้เอกชน ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 3-4% แต่ยังถือว่าต่ำกว่า เมื่อเทียบกับต้นทุนเงินกู้สถาบันบันการเงิน MLR ที่ 7%

นอกจากนี้ แนวโน้มกระแสเงินทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลด์) ในตลาดตราสารหนี้ไทย มองว่า  ยังเป็นทิศทางไหลออกได้ จากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยขยับขึ้นค่อยเป็นค่อยไป แต่ ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกไม่น่ากังวล เพราะช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีเงินไหลออกเฉลี่ยราว 2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส  ไม่ได้เร่งตัวขึ้นทำให้ต้องตกใจ

อีกทั้งฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทย ยังสอดคล้องกับฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหนไหลออกจากประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี เงินบาทที่อ่อนค่าราว -14% เป็นการอ่อนค่าระดับปานกลาง และสอดคล้องกับการอ่อนค่าของเงินสกุลอื่นในภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ ในเดือนก.ค. ฟันด์โฟลว์ต่างชาติ ยังคงขายสุทธิตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ภายหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง ก่อนจะกลับเข้าซื้อสุทธิเล็กน้อยในเดือนส.ค. 

แต่เมื่อเริ่มมีความชัดเจนในเดือนก.ย.ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการขายตราสารหนี้ไทยตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ทำให้ในไตรมาส 3 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 3.25 หมื่นล้านบาท มียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9.89 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 8.5 ปี ยังเป็นระดับที่ตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีเสถียรภาพ