กนง.หวัง ‘เงินเฟ้อ’กลับเข้ากรอบเป้าหมาย กลางปี66
กนง.ส่งจกหมายเปิดผนึก ถึงรมว.คลัง แจงเงินเฟ้อสูงกว่าขอบบนของเป้าหมายกนง.ที่ 1-3% ย้ำมาจากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวขึ้นเป็นหลัก จากผลรัสเซียยูเครน หวังกลางปีหน้าเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบได้
นับตั้งแต่ ต.ค.2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ที่เริ่มมีการส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อ มีเพียงปี 2565 เท่านั้นที่ “เงินเฟ้อ”ของไทย ปรับตัวสูงเกินกรอบเป้าหมายมาตลอดปี 2565 สวนทางกับอดีตที่ผ่านมา ที่เงินเฟ้อส่วนใหญ่ “ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย”มาโดยตลอด
ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปี ที่ธปท.ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อทั่วไป ในช่วง 12เดือนที่ผ่านมา และประมาณการเงินเฟ้อ12 เดือนข้างหน้า ที่สูงกว่าขอบบนของเป้าหมายนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ 1-3%
โดยการ ส่งจดหมายเปิดผนึก ชี้แจงการเคลื่อนไหวเงินเฟ้อ ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับทราบ ถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับ ปี 2565 โดยหากเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย12 เดือน และคาดการณ์ 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง.ต้องมีจดหมายเปิดผนึกชี้แจงให้รับทราบ
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของ เดือนก.ย. อยู่ที่ 6.41% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.23% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน
ประกอบกับ กนง. ได้ประเมินในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ถึง ไตรมาสที่ 3 ปี 2566) จะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย
ปัจจัยที่เงินเฟ้อ สูงกว่าขอบขนของกรอบเป้าหมาย กนง.ชี้แจงว่ามาจาก 3 ด้านสำคัญ 1. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน 2. ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3. การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน มาจากแรงกดดัน ด้านอุปทาน (cost-push inflation) โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลัก
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) มีจำกัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ตามแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้จะทยอยลดลง ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนที่มากขึ้นส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามแนวโน้ม เศรษฐกิจ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.23% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ได้แก่
ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ จาก global supply shocks ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น บวกกับฐานต่ำ มาจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐเมื่อปี 2564 ส่งผลให้เงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ 26.76%
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมาจากปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ ที่เกิดจากโรคระบาดใน ในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.41% ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น
หากดู ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 3.9% สูงกว่า กรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.9% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.46% เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ 3.8% ในปี 2566 จะเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้าไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น
ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่
ช่วงกลางปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลง จาก ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลงและราคาอาหารสดที่คาดว่าจะไม่ปรับขึ้นสูง
ส่วน อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ที่สะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงิน ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้ระยะสั้นเงินเฟ้อคาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบาย การเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้
ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่สาธารณชน มองว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนนำไปสู่การปรับเพิ่มราคาอย่างเป็นระลอกได้ (second-round effect)ซึ่งธปท.จะมีการติดตามประเด็นต่างๆใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า เงินเฟ้อและคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
“การดำเนินนโยบายการเงิน” ก็มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษอาจมีความจำเป็นน้อยลง และเงินเฟ้อที่สูงมาจากด้านอุปทานเป็นสำคัญ กนง.จึง มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาสู่ (policy normalization) และให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
โดยการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากลดผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้ด้วย
แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน จากที่กนง.ประเมินไว้ กนง. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป