รวยกับมั่งคั่งเหมือนกันหรือต่างกันตรงไหน

รวยกับมั่งคั่งเหมือนกันหรือต่างกันตรงไหน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน มีคำถามหนึ่งที่ค้างคาใจผมมานาน นั่นก็คือ ความรวยกับความมั่งคั่ง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร หลังจากที่ค้นหาความเหมือนและความต่างของคำทั้งสอง

ผมก็ได้เข้าใจถึงความหมายของคำทั้งสองคำ ที่ดูเผินๆจะเหมือนกัน แต่ทั้งสองคำมีความหมายที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ วันนี้เราลองมาดูความเหมือนและแตกต่างระหว่างคำทั้งสองนี้กันดูครับเพื่อว่าเราจะได้เห็นถึงความสำคัญของความมั่งคั่งและทำไมเราถึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความมั่งคั่งแทนที่เราจะบอกว่าบริหารความรวย 

  โรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือพ่อรวยสอนลงทุน เขียนไว้ว่า เมื่อตอนเขายังเป็นเด็ก พ่อรวยเคยบอกกับเขาถึงความแตกต่างระหว่างความรวยและความมั่งคั่งว่า

“หลายคนคิดว่าความรวยกับความมั่งคั่งคือสิ่งเดียวกัน แต่ มันมีความแตกต่างกันระหว่างทั้งสองสิ่ง : คนรวยมีเงินเยอะ แต่คนที่มั่งคั่งจะไม่กังวลกับเรื่องเงิน”

เราลองมาดูตัวอย่างกันเพื่อจะได้มองเห็นภาพที่ชัดขึ้น สมมติว่า ภูผาและเพชรแท้ ต่างได้รับมรดกที่เป็นเงินก้อนและทรัพย์สินเท่ากันคนละ 38 ล้านบาท (เพื่อจะได้เข้าข่ายของ High Net Worth(HNW)) แต่ภูผามีภาระค่าใช้จ่ายทั้งการจับจ่ายใช้สอยและด้วยนิสัยความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงการชอบซื้อรถหรู ทำให้เขามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ 400,000 บาท

กรณีนี้เงินของภูผาจะลดลงไปเรื่อยๆทุกปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งภูผาจะมีเงินที่พอจะอยู่ได้อีก 38/4.8  = 7.9 ปี เท่านั้น หากภูผาจะอยู่ให้นานขึ้นเขาต้องลดค่าใช้จ่ายลง เช่นถ้าเขาใช้จ่ายลดลงเหลือเดือนละ 2 แสนบาท เขาจะอยู่ได้ 15.8 ปี

ซึ่งต่างจากเพชรแท้ที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผล และนำบ้านไปให้คนอื่นเช่า นอกจากนั้นเขายังดูแลค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินรายได้จากสินทรัพย์ที่เขามี ทำให้เขามีรายได้ที่มากกว่ารายจ่าย สมมติว่าเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 5% นั่นคือเขามีรายได้ต่อปีเท่ากับ 1.9 ล้านบาท หรือเท่ากับ 1.58 แสนบาทต่อเดือน  หากเขาควบคุมรายจ่ายให้ไม่เกินนี้นั่นหมายความว่าเพชรแท้จะมีเงินใช้ไปตลอดและยังเหลือเป็นมรดกสืบทอดให้ทายาทต่อไปได้อีก

สรุปจากตัวอย่างนี้ ในตอนต้นทั้งคู่ต่างเป็นคนรวย แต่จากการตัดสินใจบริหารจัดการเงินและทรัพย์สินที่มี เพชรแท้เป็นคนที่มีความมั่งคั่ง

โรเบิร์ต คิโยซากิยังกล่าวอีกว่า ความรวยวัดกันที่จำนวนเงิน แต่ความมั่งคั่งวัดกันที่เวลา  เช่นถ้าเรามีเงิน 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่คนเรียกว่ารวย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่เดือนละ 1 แสนบาท นั่นคือความมั่งคั่งของเราจะมีค่าเท่ากับ 10 เดือน (1,000,000 / 100,000) เราสามารถให้คำนิยามว่า ความมั่งคั่งคือระยะเวลาที่เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน การมีความมั่งคั่งนั้นสำคัญกว่าความรวย

 อัตราส่วนที่สำคัญที่มักใช้วัดความมั่งคั่งคืออัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio)Wealth Ratio = รายได้จากสินทรัพย์/รายจ่าย ถ้า มากกว่า 1 เท่ากับเรามีอิสรภาพทางการเงิน หรือไม่ต้องทำงานก็อยู่ได้ด้วยรายได้จากสินทรัพย์ที่เรามีไปตลอดชั่วชีวิต ถ้าใกล้กับ 1 เราอาจอยู่รอดได้โดยไม่ต้องทำงานไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แต่ถ้าน้อยกว่า 1 มากๆเรายังอยู่โดยไม่ต้องทำงานได้เพียงแค่ชั่วเวลาที่ไม่นาน หรือเรายังต้องทำงานเพื่อที่จะอยู่รอด หรือเป้าหมายของเราคือพยายามบริหารเพื่อปรับตัวเลขนี้ให้มากกว่า 1

อัตราส่วนที่สำคัญอีกหนึ่งอัตราส่วนเรียกว่า อัตราส่วนของความอยู่รอด (Survival ratio) Survival ratio = (รายได้จากการทำงาน + รายได้จากสินทรัพย์) / ค่าใช้จ่าย

อัตราส่วนนี้ต้องมีค่ามากกว่า 1 เพื่อเราจะได้อยู่รอดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องก่อหนี้สินหรือพึ่งพาคนอื่นนั่นเอง และถ้าเราลองถอดรายได้จากการทำงานออก เราจะได้ค่าเดียวกับอัตราส่วนความมั่งคั่ง  wealth ratio ซึ่งแสดงถึงระยะเวลาที่เราจะอยู่รอดโดยไม่ต้องทำงาน

ท้ายสุดนี้ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองคำนวณอัตราส่วนทั้งสองนี้ดูว่ามีค่าเท่าไหร่ และลองคำนวณดูว่าตอนนี้เราของเรามีค่าเท่ากับกี่เดือน หากความมั่งคั่งที่ได้ยังน้อยอยู่ เรามีแผนการหรือเตรียมการอย่างไรเพื่อเราจะได้มีความมั่งคั่งมากกว่า 30 ปี เมื่อเราเกษียณ

ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนนะครับ