กสิกรไทยชี้เงินเฟ้อทรงตัวสูงกดดัน ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%
นักวิเคราะห์กสิกรไทยชี้ เงินเฟ้อไทยเริ่มชะลอ แต่ทรงตัวในระดับสูง กดดัน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย คาดปรับแค่ 0.25% เหตุหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะยังสูง คาดการณ์เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% กดดันเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มมาอยู่ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นางสาวภาณี กิตติภัทรกุล ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงภาพรวมนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในไตรมาส 4 ว่า ยังคงเป็นธีมเดิมคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่างๆ ยกเว้น จีน กับ ญี่ปุ่น โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ เช่น ECB และ ญี่ปุ่น
โดย ECB นั้น นักวิเคราะห์มีการพูดถึงจะปรับขึ้นถึง 0.75% จากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ก็จะมีการประชุมในต้นเดือนพ.ย. โดยปัจจัยที่สนับสนุนคือ เงินเฟ้อของสหรัฐที่ชะลอตัวลงมา 3 เดือน ล่าสุดอยู่ที่ 8.2%ในเดือนก.ย.ถือเป็นข่าวดี แต่ชะลอน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐเองเร่งขึ้นใน 2 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุดในเดือนก.ย.เงินเฟ้อพื้นฐานทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี พบว่า พุ่งขึ้นแตะ 4.5% กว่า จาก 4.27% แสดงว่า เฟดน่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะตลาดแรงงานสหรัฐเองที่ผ่านมา ยังออกมาดีกว่าคาด การจ้างงานนอกภาคเกษตรดีกว่าคาดทุกเดือน ประกอบกับ การว่างงานปรับลดลงในเดือนล่าสุด ฉะนั้น ทำให้ตลาดคาด 100% ว่า ในต้นเดือนพ.ย.นี้ เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% อย่างแน่นอน ที่สำคัญ คาดการณ์ไปยังเดือนธ.ค.ด้วยว่า น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อที่ 0.75% ถ้าเงินเฟ้อยังค้างในระดับสูง
เธอกล่าวว่า ที่น่ากังวลคือ ยิ่งเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย โดยครั้งก่อนคาดการณ์ไว้ที่ 50% รอบนี้ เพิ่มมาอีก 10%
“ที่กระทบเศรษฐกิจโลก น่าเป็นห่วงคือ หนี้ต่างประเทศในสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีอยู่มากเมื่อเทียบกับหนี้สกุลเงินอื่น ฉะนั้น ยิ่งเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร เงินดอลลาร์ก็จะแข็งขึ้น จะเป็นภาระให้กับประเทศอื่นที่มีหนี้เป็นเงินสกุลดอลลาร์ กระทบความตึงตัวของการทำธุรกิจทั่วโลก”
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ตลาดผันผวนมากคือ กรณีของอังกฤษ โดยในเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศนโยบายหั่นภาษีมโหฬาร ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ เนื่องจาก ไม่มีนโยบายที่จะหารายได้อย่างไร ฉะนั้น นักลงทุนจึงเทขายพันธบัตรอังกฤษจำนวนมาก ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษเข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรระยะยาวของอังกฤษ เพื่อให้อัตราผลตอบแทนลดลง แต่ก็ยังคงมีความผันผวน ทำให้ทั่วโลกผันผวนตามไปด้วย
ส่วนของไทยนั้น เงินเฟ้อของไทยชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด เป็นข่าวดีลงมาเหลือ 6.4% จาก 7.9% สอดคล้องกับนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงสุดที่ 7.9% แล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มชะลอลง แต่ยังสูงกว่า 1-3%ตามกรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉะนั้น ธปท.ยังถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะเงินเฟ้อยังสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม ธปท.เองก็พูดเสมอว่า ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงไม่ได้ เพราะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะสูงมากในช่วงที่ผ่านมา และค้างอยู่ระดับบน ฉะนั้น ธปท.ก็กังวล และเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจเรา ฉะนั้น เราก็คาดว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% เท่านั้น ฉะนั้น ความกว้างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐกับดอกเบี้ยไทยจะยิ่งกว้างมากขึ้น ตราบใดที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะทยอยปรับลดลง จากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติพลังงานยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขัดแย้งกันมากขึ้น ทำให้ปีหน้า เศรษฐกิจจะชะลอกว่าปีนี้ และชะลอกว่าที่คาดการณ์ ฉะนั้น ปีหน้าเศรษฐกิจโลกไม่สดใส
ด้าน นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ผันผวนมาก ทำให้เรามีการปรับคาดการณ์ใหม่ โดยล่าสุด ณ 30 ก.ย.เรามองที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ แต่ขณะนี้ เราปรับมาอยู่ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้
ปัจจัยหลักคือ ปัจจัยในประเทศยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทย และค่าเงินบาท โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบัน เราทราบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก โดยตัวเลขนักท่องเที่ยว ไทยเองมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวสูง ก่อนโควิด 40 ล้านคน ล่าสุด 6.5 ล้านคน ฉะนั้น เรามีรูมโตได้อีก
“สิ่งที่เกิดขึ้น พบว่า ชาวต่างชาติเยอะมากขึ้น เรามองท่องเที่ยวจะหนุนให้บาทกลับมาแข็งค่า ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามา ขณะที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสโตได้มากกว่านี้ เพราะในช่วงที่ผ่านมา เราขยายตัวได้น้อยกว่าประเทศอื่น แต่ปีหน้าเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ว่า ไทยเอง เราพบว่า ยังคงสดใส จากนักท่องเที่ยว มีโอกาสถึง 40 ล้านคน ปัจจุบัน บาทอาจจะอ่อนค่า แต่หลักๆ มาจากดอลลาร์แข็งค่า”
ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ไทยมีเงินทุนไหลเข้าตลาดทุน และพันธบัตร ทำให้อัตราการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 29.4% จากที่ไม่เคยเพิ่มมาก่อนใน 5 ปีที่ผ่านมา หมายความว่า นักลงทุนยังมองตลาดไทยน่าลงทุน และมีโอกาสเติบโตได้ โดยนักลงทุนยังได้ผลกำไรจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์