ลงทุน “หุ้นเวียดนาม” อย่างไร หลัง "ดัชนี VNI" ดิ่งหนักสุด ติดท็อป 5 ของโลก
5 ดัชนีตลาดหุ้น ดิ่งหนักสุดในโลก นำโดย"WIG 20 โปแลนด์" ร่วง 37.77% รองมา "RTS INDEX รัสเซีย" ลง 35.12% "HSCEI ฮ่องกง" ลง 32.19% "VNI เวียดนาม" ลง 31.80% และ "HSI ฮ่องกง" ลง 30.60% "บลจ.ยูโอบี" ชี้หุ้นเวียดนามเสี่ยง แนะเลี่ยงลงทุนช่วงท้ายปี "จิตตะ เวลธ์" ชี้โอกาส DCA สะสมระยะยาว
แม้ว่า "เศรษฐกิจเวียดนาม" จะเติบโตได้อย่างร้อนแรง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่ง จีดีพีเวียดนาม ขยายตัวได้ถึง 13.67% แต่ในมุมของ “ตลาดหุ้น” ดูจะสวนทางกับภาพเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง
สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม(VNI) ยังคงร่วงหลุดระดับ 1,000 จุด เป็นการปรับตัวลดลงมา 31.80% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เป็นอันดับ 4 ของโลก และถือเป็นตลาดหนึ่งที่ปรับตัวลดลงแรงสุดในภูมิภาคเอเชีย
รองจาก "ตลาดหุ้นฮ่องกง HSCEI" ที่ปรับตัวลงมาแรงที่ 32.19% แซงเป็นอันดับ 3 แทน ขณะที่อันดับ 5 เป็น "ตลาดหุ้นฮ่องกง HSI " ปรับตัวลดลงมา 30.60%
แย่กว่านี้ คือ "ตลาดหุ้นโปแลนด์ WIG 20 " ปรับตัวลงมาแรงสุด 37.77% เป็นอันดับ1 ของโลก รองลงมาอันดับ 2 "ตลาดหุ้นรัสเซีย RTS INDEX " ปรับตัวลงมาแล้ว 35.12% ที่ถูกกระทบจากสงคราม
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หุ้นเวียดนามร่วงลงแรง?
สำหรับ "ปัจจัยฉุด" ตลาดหุ้นเวียดนามร่วงแรงที่สุดติดท็อป 5 ของโลกรอบนี้ “ผู้จัดการกองทุน” ให้น้ำหนักจาก "มากที่สุด-น้อยที่สุด" ดังนี้
1 .แรงขายจาก “นักลงทุนรายย่อย” จากมีความกังวลกับ “ความไม่โปร่งใสของหลายบริษัท” ช่วงที่ความเชื่อมั่นต่ำจะถูกกดดันมาก
2 .แรงขายจาก “นักลงทุนต่างชาติ” จากมีความกังวล " เงินดองอ่อนค่า” ไปด้วย
3. "นักลงทุนสถาบัน” ไม่ได้แข็งแกร่งมาก ไม่ได้มีนโยบายดึงเงินพยุงตลาด โดยรวมจึงปรับตัวลงแบบแทบไม่มีคนรับ
อย่างไรก็ตาม “ผู้จัดการกองทุน” ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นเวียดนาม
สำหรับการลงทุน ”ระยะกลางถึงยาว” เท่านั้น โดยให้น้ำหนัก "ปัจจัยหนุน" จาก "มากที่สุด-น้อยที่สุด ดังนี้
1.เศรษฐกิจเวียดนาม (จีดีพี) ยังขยายตัวต่อได้ราว ระดับ5-7% ด้วยการบริโภคในประเทศ
2.รายได้บริษัทจดทะเบียน(บจ.) เวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโต 10-15% ถือว่า “โดดเด่น” เมื่อเทียบกับบจ.ทั่วโลกที่รายได้ชะลอตัว
"บลจ.ยูโอบี" แนะเลี่ยงหุ้นเวียดนาม ช่วงท้ายปีนี้
ชัดเจนว่า “แนวโน้มตลาดหุ้นเวียดนาม” หลังร่วงลงมาโหดรอบนี้ “การฟื้นตัวน่าจะยังไม่สดใสนัก” กลยุทธ์ในระยะสั้นช่วงนี้ลงทุนอย่างไรนั้น
“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า "เรายังแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม ในช่วงท้ายปีนี้"
เหตุผลหลักคือ เรื่องความเชื่อมั่น มองว่า ตลาดหุ้นเวียดนามจะกลับมาฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่อเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวก่อน ซึ่งเป็นจุดเข้าลงทุนได้มากกกว่า
“ช่วงนี้ยากที่จะหานักลงทุนกล้าช้อนกลุ่มหุ้นเติบโต (Growth) สวนทางกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ 2 เงินดองที่อ่อนค่าระดับ23,000 ดองต่อดอลลาร์ พร้อมกับทุนสำรองที่ลดลงเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลอาจพยุงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว ถ้าทุนสำรองหมด อาจต้องกู้ดอลลาร์จากต่างประเทศ ดอกเบี้ยในประเทศจึงอาจต้องปรับตัวสูงขึ้นตาม กระทบสภาพคล่องซ้ำเติมไปอีก”
"ปรับลด" พอร์ตรอดูสถานการณ์
ถึงแม้ว่าพื้นฐาน "ตลาดหุ้นเวียดนาม" แม้จะมีแนวโน้มเติบโตสูง ราคาไม่แพง แต่ในเชิงเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นภูมิเอเชียด้วยกัน อย่างเช่น ตลาดหุ้นจีน เรายังไม่เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับ “ความเสี่ยง” ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจและความโปร่งใสที่เกิดขึ้น เชื่อว่า “เมื่อเวียดนามเกิดปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นแล้วมักแก้ไขลำบาก”
"แนะนำว่า ถ้าเป็นนักลงทุนมีการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม อยู่แล้วอาจลดสัดส่วนลงมารอดูสถานการณ์ก่อน ถ้ายังไม่ได้ลงทุนเลยก็ไม่ต้องรีบ มองว่า รอความชัดเจนจากเศรษฐกิจทั่วโลกก่อนดีกว่า"
"หุ้นฮ่องกง" ร่วงแรงกว่า แต่ความเสี่ยงน้อยกว่า หุ้นเวียดนาม
ถึงแม้ ตลาดหุ้นฮ่องกงจะปรับลดลงมากกว่าตลาดหุ้นเวีนดนาม แต่ "จิติพล" มองว่า "ลงทุนฮ่องกงดีกว่าเวียดนาม" เพราะตลาดหุ้นเวียดนามยังมีในแง่ความความเสี่ยงเชิงระบบ
แม้ว่าประเด็นหลักช่วงนี้คล้ายๆ กันเพราะนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เซนทริเมนท์ของนักลงทุนไม่ดี การล็อกดาวน์โควิดที่ยังไม่ผ่อนคลายเต็มที่ ทำให้ตลาดซึมลง
แต่"จิติพล" เชื่อว่า "มองอนาคตตลาดหุ้นฮ่องกง" มีโอกาสฟื้นจะมาจากการเปิดการเดินทาง และอาจมีจังหวะที่บริษัทเทคโนโลยีจีนกลับตัวช่ววยหนุน "
“จิตตะ เวลธ์” ชี้ศก.เวียดนามกำลังเร่งเครื่อง ระยะยาวน่าสนใจ
“ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ มองว่า “ตลาดหุ้นเวียดนาม” ในระยะยาวยังมีความน่าสนใจอย่างมาก “เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเร่งเครื่องเติบโตต่อเนื่อง"
นับจากปีนี้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า จีดีพีเวียดนามในไตรมาส 3 สามารถเติบโตถึง 13.7% และในช่วง 9 เดือนแรก เติบโต 8.83%
มาจากปัจจัยหนุน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.ปีนี้ ขยายตัว 13.0% ,จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 44 เท่า , การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI) 8 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 12.79 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่ IMF ได้ปรับประมาณการ GDP เวียดนามปี 2565 จาก 6% เป็น 7% สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเวียดนามกลับอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น สวนทางกับหลายประเทศกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อสูง
ตลาดมีการคาดการณ์กันว่าด้วยอัตราการเติบโตในระดับนี้ อาจเห็นเศรษฐกิจเวียดนามโตแซงไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ โดยในปี 2564 ตามข้อมูลของธนาคารโลก จีดีพีเวียดนามอยู่ที่ 362,640 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีดีพีไทยอยู่ที่ 505,980 ล้านดอลลาร์ แต่เวียดนามกำลังเนื้อหอมที่หลายประเทศจับจองเข้าไปลงทุน ยิ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเวียดนามสดใสต่อไปในอนาคต
แย้มดัชนี VNI ร่วงแรง เป็นโอกาสลงทุนยาว สะสม DCA ได้
ในช่วงวิกฤต Covid-19 ดัชนี VNI ได้ปรับขึ้นแรงตลอด 2 ปีที่ผ่านมาโดยปี 2563 สามารถสร้างผลตอบแทน 14.87% และปี 2564 35.73%
แต่ในช่วงนี้ที่ทางการเวียดนามเตรียมปรับปรุงกฎระเบียบตราสารหนี้ป้องกันการ ทุจริตทำให้ดัชนีปรับตัวลงรุนแรงจะเห็นว่า “นักลงทุนต่างชาติมองเป็นโอกาสเข้าซื้อ สุทธิตั้งแต่วันที่ 1-20 ตุลาคม 2565 เป็นมูลค่า 2,145 พันล้านดอง”
แนะนำว่า หากนักลงทุนจะใช้โอกาสนี้ทะยอยเพิ่มการลงทุนหรือ DCA ต่อเนื่องจะทำให้ ลงทุนหุ้นได้หลายบริษัทมากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวนของพอร์ตไปในตัวด้วย
" ตราวุทธิ์" กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงด้านหนึ่งถือว่า สอดคล้องกับนโยบายการเงินจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทและมูลค่าหุ้นที่แท้จริงลดลง กระทบต่อพื้นฐานโดยตรง
มองว่า “เป็นโอกาสในการซื้อหุ้นดีราคาถูก” ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่มีหนี้สินเมื่อเทียบกับทรัพย์สินหรือส่วนของเจ้าของในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการ
นอกจากนี้ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงปรับลดลง แต่ด้วยราคาหุ้นที่ร่วงแรงในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้หุ้นบางตัวมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อวัดด้วยอัตราส่วน P/E ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน
เฟ้นหาหุ้น "หนี้น้อย-ฐานะการเงินแกร่ง"
สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินกู้ จะส่งผล กระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทที่มีฐานะการเงินอ่อนแอและมีหนี้มาก แต่ในทางกลับกันถือเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีหนี้น้อยหรือมีฐานะการเงินแข็งแกร่งจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย
ยกตัวอย่าง “หุ้น PDN” ซึ่งเป็นหุ้นอันดับ 1 ใน jitta.com หมวดตลาดหุ้นเวียดนาม เพราะมีสถานะทางการเงินที่ดี โดยมีสินสทรัพย์มากกว่าหนี้สิน (Current Ratio) ถึง 1.4 เท่า หนี้สินต่อทุน(D/E)เพียง 0.28 เท่า อัตรากำไรสุทธิ 20.4% และมี P/E อยู่ที่ 12.03