นักวิชาการสศค.ชี้”คนละครึ่ง-เราชนะ”ช่วยกระจายรายได้ลดเหลื่อมล้ำ
นักวิชาการสศค.วิเคราะห์มาตรการคลังช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยโครงการเราชนะและคนละครึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงใกล้เคียงกัน ขณะที่ เราเที่ยวด้วยกันก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเนื่องจากมีส่วนรั่วไหลออกจากระบบเศรษฐกิจ
นายนรพัชร์ อัศววัลลภ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วิเคราะห์มาตรการการคลังที่ผ่านมาส่งผลดีต่อเศรษฐกิจแค่ไหน โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินมาตรการดูแลภาวะเศรษฐกิจบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ในที่นี้จะขอหยิบยกเพียงบางมาตรการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แก่
- เราชนะ (29 ม.ค. – 30 มิ.ย. 64)
- คนละครึ่ง ระยะที่ 1-3 (1 ต.ค. 63 – 31 ธ.ค. 64)
- เราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 1-2 (1 ก.ค. 63 – 30 เม.ย. 64)
ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท มาวิเคราะห์ให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทั้งในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจว่ามีความทั่วถึงเพิ่มขึ้นหรือไม่
ในด้านของการเติบโตทางเศรษฐกิจจะวิเคราะห์ผ่านสมมติฐานความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายของการบริโภค (Marginal Propensity to Consume: MPC) โดยคำนวณจากข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากนั้น คำนวณผลกระทบต่อ GDP โดยอาศัยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตล่าสุดของสศช. ซึ่งการคำนวณอาจมีข้อจำกัดในการประเมินขนาดของผลกระทบ แต่มีประโยชน์ในการเปรียบเทียบข้ามโครงการหรือข้ามสาขาการผลิต
สำหรับการประเมินการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะประเมิน 2 กรณีคือ
1) อาศัย Atkinson Index โดยค่าดัชนีจะอยู่ระหว่าง 0-1 หากค่าเข้าใกล้ 1 แสดงว่าการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม หากเข้าใกล้ 0 แสดงว่ามีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมมากกว่า ซึ่งจะเป็นการคำนวณอย่างง่ายโดยใช้มูลค่าสัมบูรณ์ (Absolute) ของแต่ละจังหวัด
2) การแสดงการกระจายตัวของมูลค่าการใช้จ่ายในระดับจังหวัดอย่างง่าย
โดยโครงการเราชนะ เป็นโครงการที่ช่วยเหลือลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนโดยจ่ายเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในรูปแบบของวงเงินช่วยเหลือผ่าน 4 ช่องทาง คือ
1) กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2) กลุ่มผู้มีแอป“เป๋าตัง”
3) กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอป “เป๋าตัง”
4) กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมมียอดใช้จ่ายทั้งสิ้น 2.7 แสนล้านบาท
ผลกระทบด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือ GDP ได้ราว 175.2 พันล้านบาท โดยสาขาการผลิตที่ได้รับประโยชน์หลักๆ คือ การค้า ร้านอาหาร การธนาคาร ภาคบริการสาธารณูปโภค และการขนส่ง เป็นสำคัญ
ผลกระทบด้านการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากวัดจากรายได้สะสมของร้านค้ารายจังหวัดเมื่อนำมาคำนวณ Atkinson Index พบว่ามีค่า 0.204 ในขณะที่การกระจายตัวของผลิตภัณฑ์จังหวัดโดยทั่วไปอยู่ที่ราว 0.583 แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายนั้นมีการกระจายตัวที่ดีกว่าการกระจายตัวทางเศรษฐกิจตามปกติซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้
อีกทั้ง หากพิจารณาการกระจุกตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดตามปกติจะพบว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดของ 4 จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนเป็นประมาณ 51% ของ GDP แต่การกระจายตัวของรายได้ของร้านค้าในจังหวัดต่างๆ ที่มีมูลค่ามากที่สุดมีจำนวนถึง 19 จังหวัดจึงจะมีมูลค่าคิดเป็น 51% ของรายได้ร้านค้าจากโครงการเราชนะทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการกระจายเม็ดเงินของโครงการเราชนะมีความทั่วถึงและมีส่วนช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
- คนละครึ่ง ระยะที่ 1-3 มียอดการใช้จ่ายประมาณ 3.3 แสนล้านบาท โดยเป็นส่วนที่รัฐบาลสนับสนุน 50% หรือราว 1.6 แสนล้านบาทคิดเป็นขนาดประมาณร้อยละ 1 ของ Nominal GDP
ผลกระทบด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือ GDP ได้ราว 89.5 พันบ้านบาท โดยสาขาการผลิตที่ได้รับประโยชน์หลักๆ คือ การค้า ร้านอาหาร การธนาคารสาธารณูปโภค การเพาะปลูก และภาคบริการ เป็นสำคัญ
ผลกระทบด้านการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากวัดจากรายได้สะสมของร้านค้ารายจังหวัดเมื่อนำมาคำนวณ Atkinson Index พบว่ามีค่า 0.326 ในขณะที่การกระจายตัวของผลิตภัณฑ์จังหวัดโดยทั่วไปอยู่ที่ราว 0.583 แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายนั้น มีการกระจายตัวที่ดีกว่าการกระจายตัวทางเศรษฐกิจตามปกติ
อีกทั้ง หากพิจารณาการกระจุกตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดตามปกติจะพบว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดของ 4 จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนเป็นประมาณ 51% ของ GDP แต่การกระจายตัวของรายได้ของร้านค้าคนละครึ่งในจังหวัดต่างๆ ที่มีมูลค่ามากที่สุดมีจำนวนถึง 35 จังหวัดจึงจะมีมูลค่าคิดเป็น 51% แสดงให้เห็นว่าการกระจายเม็ดเงินของโครงการคนละครึ่งมีความทั่วถึงและมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น
- เราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 1-2 มียอดใช้จ่ายคูปอง/สถานที่ท่องเที่ยว (e-voucher) สะสมราว 7.8 พันล้านบาท ผลกระทบด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือ GDP ได้ราว3.9 พันบ้านบาท โดยสาขาการผลิตที่ได้รับประโยชน์หลักๆ คือ ร้านอาหารและโรงแรม การค้า การเพาะปลูก สาธารณูปโภค การผลิตเครื่องดื่ม และการผลิตอาหาร เป็นสำคัญ
ผลกระทบด้านการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากวัดจากรายได้สะสมของร้านค้าและที่พักรายจังหวัดเมื่อนำมาคำนวณ Atkinson Index จะพบว่ามีค่า 0.572 ในขณะที่ การกระจายตัวของรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในจังหวัดต่างๆ โดยทั่วไปอยู่ที่ราว 0.664 แสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายนั้นมีการกระจายตัวที่ดีกว่าการกระจายตัวของการท่องเที่ยวทั่วไปหากไม่มีโครงการ
อีกทั้ง หากพิจารณาการกระจุกตัวของรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยตามปกติจะพบว่า มูลค่าของจังหวัดท่องเที่ยวหลักเพียง 4 จังหวัดมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 51% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด แต่การกระจายตัวของรายได้จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันในจังหวัดต่างๆ ที่มีมูลค่ามากที่สุดมีจำนวนถึง 10 จังหวัดจึงจะมีมูลค่าคิดเป็น 51% ของรายได้จากโครงการ แสดงให้เห็นว่าการกระจายเม็ดเงินของโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีความทั่วถึงและมีส่วนช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยสรุป โครงการทั้งสามมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น โดยพบว่า โครงการเราชนะและคนละครึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงใกล้เคียงกัน ในขณะที่เราเที่ยวด้วยกันจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าเล็กน้อยเนื่องจากมีส่วนรั่วไหลออกจากระบบเศรษฐกิจมากกว่าโดยเปรียบเทียบสำหรับในด้านการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่าทั้งสามโครงการมีส่วนช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากกว่าในกรณีที่ไม่มีโครงการทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการที่สามารถกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุดคือ เราชนะ คนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน ตามลำดับ (ทั้งนี้ ผลการคำนวณเป็นผลการศึกษาเบื้องต้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง)