แนวทาง ผลิต-ขาย "กัญชา กัญชง" ให้ถูกกฎหมาย และภาษีที่ต้องเสีย
แม้ว่าไทยจะ "ปลดล็อกกัญชา" รวมถึง "กัญชง" เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับใครที่กำลังหันมาทำธุรกิจกัญชาและกัญชง ยังคงต้องศึกษาแนวทางการทำธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะการยื่นภาษีให้ถูกต้องที่กฎหมายกำหนด
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะปลดล็อกกัญชา โดยกำหนดให้ "ทุกส่วนของกัญชา" ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด สามารถปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้แล้ว
แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด อย่างเช่นการขออนุญาตปลูกกัญชา การนำกัญชามาปรุงอาหาร โดยกฎหมายได้อนุญาตให้บุคคล 4 กลุ่มที่สามารถปลูกกัญชาได้แต่ต้องขออนุญาตก่อน คือ
1.หน่วยงานของรัฐ
2.ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์
3.สถาบันอุดมศึกษา
4.อาชีพเกษตรกรรม
ดังนั้น การปลดล็อกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพของประชาชน ก็ยังมีการควบคุมการผลิตและจำหน่ายอยู่ ซึ่งใครที่กำลังหันมาทำธุรกิจกัญชา กัญชง จะต้องศึกษาแนวทางการทำธุรกิจประเภทนี้ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
- ต้องได้รับอนุญาตจึงจะประกอบธุรกิจกัญชาได้
ในกรณีที่ต้องการปลูกกัญชาสำหรับอาชีพเกษตรกรรม จะต้องเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพเกษตรกรและรวมตัวกันอยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ วัตถุประสงค์เพื่อปลูกกัญชาโดยเฉพาะ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน จึงจะสามารถปลูกได้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1.ยื่นคำขอและเอกสาร ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่
2.ตรวจประเมินสถานที่ขออนุญาตปลูกกัญชา
3.นำเรื่องเข้าที่ประชุมในส่วนงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาใบคำขอ
4.ออกใบอนุญาต
โดยการขออนุญาตปลูกกัญชานี้ ผู้ขออนุญาตต้องมีความชัดเจนว่าจะปลูกจำนวนเท่าไร และจะนำผลผลิตดังกล่าวไปขายให้ใคร โดยต้องกำหนดผู้รับซื้อที่ชัดเจน
ทั้งนี้ การนำกัญชามาใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น การใช้ประกอบอาหาร เครื่องสำอาง สิ่งทอ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยา แต่ไม่ใช่การใช้เสพโดยเสรีเพื่อสันทนาการ กฎหมายกำหนดให้ทุกส่วนของต้นกัญชาไม่เป็นยาเสพติด สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้
ยกเว้นเมล็ดกัญชา และช่อดอก ที่ยังคงเป็นยาเสพติดอยู่ใช้ได้แค่ในทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย ผลิตสารสกัดและเพาะพันธุ์ในส่วนของสารสกัด CBD หรือ THC ต้องมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2% จึงจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย
สำหรับร้านอาหารที่ต้องการซื้อส่วนประกอบของกัญชามาใช้ในการปรุงอาหาร จะต้องซื้อจากแหล่งปลูก ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และร้านอาหารไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาต แต่ควรติดป้ายแนะนำหรือกำหนดอายุของลูกค้าที่จะมาใช้บริการของทางร้านตามแต่ความเหมาะสม
- หลักการจำหน่ายกัญชา กัญชง
ในส่วนของการขายส่วนของพืชกัญชา จะต้องทำตามเงื่อนไขดังนี้
1. หากจำหน่ายส่วนของพืช ไม่ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
2. หากจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ จะต้องขอรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518
3. หากจำหน่ายสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
- กรณีเป็นสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ต้องมีใบอนุญาต
- กรณีสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ต้องมีใบอนุญาตจำหน่าย และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย
- กรณีสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ต้องมีใบอนุญาตจำหน่าย และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย
4. การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น
- ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชา กัญชง ที่ได้รับอนุญาต
จากหลักการจำหน่ายกัญชา กัญชง ในหัวข้อ “การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น” ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชา กัญชง ไว้ทั้งหมดดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์อาหาร อนุญาตทั้งสิ้น 90 รายการ
- อาหารที่มีเมล็ดกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชง จำนวน 10 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมขบเคี้ยว และน้ำมันเมล็ดกัญชง
- อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง จำนวน 77 รายการ เช่น ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที และกาแฟ
- อาหารที่มีสารสกัด CBD เป็นส่วนประกอบ จำนวน 3 รายการ เช่น เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อนุญาตทั้งสิ้น 12 รายการ
- ยาแผนไทย (ยาตำรับ) จำนวน 11 รายการ
- ผลิตภัณฑ์สมุทรไพรเพื่อสุขภาพ (ชาจากใบกัญชา) จำนวน 1 รายการ
3.ผลิตภัณฑ์ยา อนุญาตทั้งสิ้น 15 รายการ
- น้ำมันกัญชา จำนวน 15 รายการ
4.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการจดแจ้งทั้งสิ้น 818 รายการ
ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำความสะอาดผิว และขัดผิว
- กลุ่มที่ใช้ น้ำมันหรือสารกัดเมล็ดกัญชง จำนวน 619 รายการ
- กลุ่มที่ใช้ ส่วนของกัญชง จำนวน 19 รายการ
- กลุ่มที่ใช้ ส่วนของกัญชา จำนวน 65 รายการ
- กลุ่มที่ใช้ สาร CBD จำนวน 115 รายการ
- ผลิต-จำหน่ายกัญชา กัญชง แบบไหนต้องเสียภาษี
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายออกมาชัดเจนเกี่ยวกับภาษีกัญชา แต่ตามหลักการภาษีสรรพากร หากมีรายได้จากการจำหน่ายกัญชา กัญชา ทั้งแบบสดและแปรรูป จะต้องเสียภาษีตามลักษณะดังนี้
1.ภาษีเงินได้
1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล เมื่อมีรายได้จากการจำหน่ายกัญชา กัญชง จัดอยู่เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) บุคคลธรรมดาเหล่านี้จะต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหากเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้าสูงสุด 35%
1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจกัญชา กัญชง มีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล รายรับจากการจำหน่ายนี้ ให้นำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล วิธีการคำนวณภาษีคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ และนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบตารางภาษีเสียสูงสุด 20%
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
กฎหมายได้กำหนดว่า การจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ใบ เปลือกหน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ที่ได้แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารหรือสินค้าจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเกิดจากการนำพืชผลทางการเกษตรมาปรุงแต่งให้ยังคงลักษณะเป็นพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในสภาพสด หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อไม่ให้เสียในระหว่างขนส่ง หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อไม่ให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง เฉพาะที่บรรจุกระป๋องภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน
แต่ถ้าหากเป็นการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น ลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ที่ไม่ได้แปรรูปตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่