ธ.ก.ส.เผยยอดหนี้เสียเกษตรกรครึ่งปีบัญชี 65 พุ่ง 12.5%
ธ.ก.ส.เผยยอดหนี้เสียเกษตรกรครึ่งปีบัญชี 65 พุ่ง 12.5% หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด น้ำท่วม ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อ เชื่อทั้งปีจะบริหารจัดการให้กลับมาอยู่ในระดับ 7% ขณะที่ สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 3.68 แสนล้านบาท กำไรกว่า 1.38 พันล้านบาท
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยสถานการณ์หนี้เสียของธนาคารว่า ขณะนี้ ได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ล่าสุด ในครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 อยู่ที่ประมาณ 12.5% จากก่อนหน้านี้ ที่เคยอยู่ในระดับไม่ถึง 10% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ดี ธนาคารจะให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน คาดว่า จะทำให้สิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค.66) สัดส่วนหนี้เสียจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7%
สำหรับสาเหตุที่หนี้เสียทยอยปรับเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจาก เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึง สงครามรัสเซีย และยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และเงินเฟ้อ รวมทั้ง สถานการณ์น้ำท่วม จึงส่งผลให้สถานการณ์หนี้เสียเพิ่มขึ้น
“ยอมรับว่าสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเผชิญภาวะข้อจำกัดทางด้านการเงิน ซึ่งหากธ.ก.ส.เข้าไปเร่งจัดเก็บหนี้ก็คงไม่ใช่ เราจึงจะเข้าไปช่วยดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพ.ย.- ธ.ค.65 เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้”
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส.ครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลเกษตรกรแล้วกว่า 3.68 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค.65) จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 7 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อสะสม ณ 30 ก.ย.65 อยู่ที่กว่า 1.6 ล้านล้านบาท และเงินฝากอยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสินทรัพย์มากกว่า 2.12 ล้านล้านบาท
ขณะที่ หนี้สินอยู่ที่ระดับ 1.974 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้จากดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมอื่นๆ อยู่ที่ระดับ 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงานของแบงก์อยู่ที่ประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 1.38 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ 50 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 จะมีกำไรสุทธิ 7 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ในภาวะที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น สถาบันการเงินของรัฐยังยืนยันที่จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรอยู่ รวมทั้ง แบงก์รัฐทุกแห่งด้วย และจะรอติดตามสถานการณ์การประชุม กนง.อีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย.65 หาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ประเมินแล้วไม่กระทบแบงก์ ธนาคารก็จะยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์