เศรษฐกิจโลกปี 2023 : ปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน
ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ "เศรษฐกิจโลก" จะชะลอลงและแบ่งแยกกันมากขึ้น เงินเฟ้อจะเข้าสู่จุดสูงสุด (Peak) ขณะที่ดอกเบี้ยของ DM จะเร่งขึ้น และต้องเริ่มลดลงในครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเข้าใกล้กันมากขึ้นในช่วงปลายปี
เราเชื่อว่าในปี 2023 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน จาก “ยุคดอกเบี้ยต่ำ-เศรษฐกิจเติบโตต่ำ” ในปี 2010-2019 สู่ “ยุคCOVID” ในปี 2020-2022 ที่การระบาดของ COVID นำไปสู่การล็อกดาวน์ทั่วโลก การใช้จ่ายด้านการคลังจำนวนมหาศาล ยอดหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น และโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ
เข้าสู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะ 3 ประการ ประการแรก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างตลาดพัฒนาแล้ว (DM)กับตลาดเกิดใหม่ (EM) จะแตกต่างกัน โดย DM มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจ EM จะชะลอตัวลง แต่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยน้อยกว่า
ประการที่สอง เราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐและเศรษฐกิจEMหลายประเทศ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยจากการศึกษาผ่าน global inflation heatmap แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของ 42 ประเทศที่ทำการศึกษา ทำจุดสูงสูดในเดือนมิ.ย. และลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา ในปี 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงจากฐานสูงและอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลงอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เราเชื่อว่าประเทศ DM (โดยเฉพาะสหรัฐ) จะขึ้นดอกเบี้ยแรง (overshoot) เพื่อให้ครอบคลุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงและต้องลดลงในระยะต่อไป แต่ธนาคารกลางในประเทศ EM จะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสองกลุ่มนี้จะปรับตัวเข้าหากัน (convergence)ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะยอดค้าปลีกนั้น เรามองว่า การใช้จ่ายของประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีเงินออมเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งรัฐบาลทรัมพ์ และไบเดน เราจึงทำการสำรวจเงินออมของประชาชนสหรัฐและคำนวณส่วนต่างระหว่างเงินออมในปัจจุบัน กับเงินออมที่เป็นไปตามแนวโน้ม (Trend)เดิมหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล จากการคำนวณ พบว่าหากเราตั้งสมมุติฐานว่าเงินออมโดยปกติจะขยายตัวประมาณ 6% ต่อปี เงินออม ณ เดือน ต.ค. 2022 ของสหรัฐที่ปราศจากการช่วยเหลือภาครัฐจะอยู่ที่ประมาณ 15.6 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่โดยแท้จริงแล้ว เงินฝากของสหรัฐทั้งประเทศอยู่ที่ 17.6 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้มีเงินออมส่วนเกินอยู่ประมาณ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงสูงสุด ณ เดือน ม.ค. 2022 ที่ประมาณ 3.06 ล้านล้านดอลลาร์
เราคาดว่าเงินออมส่วนเกินจะลดระดับจนหมดภายในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2023 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการบริโภคยังคงทรงตัวหรือไม่หดตัวลงมาก แต่องค์ประกอบของการบริโภคจะเปลี่ยนไป (เปลี่ยนจากสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการต่างๆ มาเป็นสินค้าจำเป็น) กล่าวโดยสรุป เราเชื่อว่าเงินออมส่วนเกินจะช่วยให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2023 มีความรุนแรงลดลงได้บ้าง
ในส่วนของเงินเฟ้อ เรามองว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องจะทำให้ความรู้สึกอยากจับจ่าย ในระยะต่อไปลดลง และจะช่วยลดทอนการบริโภคโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยและ/หรือบริการต่างๆ ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นการลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้บ้างในระยะต่อไป และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและดัชนีพ้องและชี้นำเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และ PMI เริ่มปรับตัวลดลง เราจึงเชื่อว่าเฟดจะเริ่มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมเดือนธ.ค. เป็นต้นไป
ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่ 4.88% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ 30 ปี และอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะสูงกว่าอัตราปัจจุบันอย่างน้อย 1% ซึ่งจะทำให้ผู้จำนองและ/หรือผู้ใช้สินเชื่อบัตรเครดิตประสบปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนสหรัฐก็จะสูงขึ้น
นอกจากนั้น ปัจจุบัน หนี้สินภาคธุรกิจของสหรัฐทั้งหมดคิดเป็น 80% ของGDPเทียบกับ 65% ในปี 2007 โดยหนึ่งในสามของหนี้สินภาคธุรกิจในอเมริกาได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับBBBซึ่งเป็นระดับน่าลงทุนต่ำที่สุด เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลทำให้อันดับเครดิตของหลายๆ บริษัทปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและความปั่นป่วนทางการเงิน ดังนั้น เราเชื่อว่าเฟดจะลดFFRลงเร็วกว่าตลาดคาด โดยอาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 ปีหน้า
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เราเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2023 จะเป็นปีที่ดี ด้วยการผ่อนคลายนโยบายและฐานต่ำ โดยเราคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวเล็กน้อยสู่ 5.0% ในปี 2023 ผลจากการยกเลิกมาตรการ Zero Covid ใน 2Q23 และเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับมา ขณะที่ภาครัฐจะเร่งเบิกจ่ายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้วยการเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ยอดค้าปลีกของจีนจะฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งนี้จากการคำนวณของเรา ปัจจุบันจีนมีเงินออมส่วนเกินเท่ากับ 5.86 ล้านล้านหยวน หรือ 3.4% ของGDPเงินออมส่วนเกินนี้จะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคและเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวในปี 2023
ในฝั่งของยูโรโซน เรามองว่าจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ในปี 2023 โดยเราคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหดตัวลงในปี 2023 โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตพลังงานที่ดำเนินอยู่และนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายทั้งในปี 2022 และปี 2023 ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในยูโรโซนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่เคยคาด เนื่องจาก
(1) ราคาพลังงานที่จะปรับสูงขึ้นตามราคาซื้อขายล่วงหน้า ขณะที่มาตรการอุดหนุนภาครัฐเริ่มจำกัดลง
(2) เงินเฟ้อมีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น
(3) สหภาพแรงงานเริ่มมีอำนาจในการเจรจาต่อรองยิ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะตลาดแรงงานที่ค่อนข้างตึงตัว ทำให้เป็นไปได้สูงว่ายุโรปจะเกิดภาวะStagflationหรือเศรษฐกิจถดถอยแต่เงินเฟ้อสูงในระยะต่อไป โดยเฉพาะในประเทศยุโรปตะวันออกที่มีก๊าซสำรองในคลังต่ำกว่ายุโรปตะวันตก
กล่าวโดยสรุป เราเชื่อว่า ในปีแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ เศรษฐกิจโลกจะชะลอลงและแบ่งแยกกันมากขึ้น (ระหว่าง EMที่เติบโตดีกว่า DM)เงินเฟ้อจะเข้าสู่จุดสูงสุด (Peak) ขณะที่ดอกเบี้ยของ DM จะเร่งขึ้น และต้องเริ่มลดลงในครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเข้าใกล้กันมากขึ้นในช่วงปลายปี