“นวลพรรณ ล่ำซำ” สะท้อนมุมมองธุรกิจ หลังงานประชุม “APEC CEO Summit 2022”
“นวลพรรณ ล่ำซำ” สะท้อนมุมมองธุรกิจ หลังงานประชุม “APEC CEO Summit 2022” ผลักดัน 3 ข้อ “Embrace, Engage, Enable” เป็นความสำคัญที่ผู้นำธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อมในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA หนุนภาคเอกชนร่วมมือภาครัฐการเติบโตที่ยั่งยืนและทั่วถึง
ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และยังรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ ‘ABAC’ และ ‘APEC CEO Summit 2022’ ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เวทีสำคัญระดับโลกของผู้นำธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยน วิสัยทัศน์ต่อผู้นำโลก
เพื่อร่วมพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หาแนวทางแก้ไข จัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคตร่วมกัน โดยมีภาคเอกชนไทยร่วมสนับสนุน รวมถึง บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลัก เพื่อร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าทุกมิติทางธุรกิจและทางสังคม
“มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุน และนักธุรกิจหญิงที่สวมหมวกหลายใบทั้งในทางธุรกิจ กีฬา และสังคม มองว่า แนวทางที่ภาคธุรกิจพยายามผลักดันทั้ง 3 ข้อ คือEmbrace, Engage, Enable เป็นความสำคัญที่ผู้นำธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบ VUCA ที่อาศัยความรวดเร็วและการปรับตัวในองค์กรแบบฉับพลัน สร้างความได้เปรียบจากการใช้ความโดดเด่นของตัวเอง
ในขณะเดียวกันจะต้องสามารถร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนอื่นๆ ในการช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วย องค์กรภาคเอกชนที่มีความพร้อมและทรัพยากรนี้เอง จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เกิด “การเติบโตที่ยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive and Sustainable Growth)”
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นความท้าทายของธุรกิจประกัน เพราะทำให้สังคมเห็นประโยชน์ของการประกันภัยและการกระจายความเสี่ยงที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งได้เข้าไปเยียวยาความสูญเสียในหลายมิติ ทั้งระดับธุรกิจและบุคคล ทำให้เราต้องยึดมั่นหลักการในหลักทำงานที่ซื่อสัตย์สุจริตและมุ่งพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น
รวมไปถึงการเกื้อหนุนสังคมผ่านกิจกรรม CSR และในมุมภายในองค์กรนั้นเอง ก็ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยหลัก human-centricity เพราะในอนาคตการทำงานจะเป็นธุรกิจแบบ 360 องศา สนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อเสริมความแกร่งและสร้างความเชื่อมั่น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจและสังคม และ Disruptions ต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม พลังงานสำหรับ เมืองไทยประกันภัย เรามองความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์แบบ Super WorstCase เสมอ เพื่อรับมือเหตุการณ์ต่างๆ
นางนวลพรรณ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการทำธุรกิจประกันแล้ว ตลอดระยะการทำงานในวงการกีฬากว่า 16 ปี ยังมองกระแสความนิยมในฟุตบอลมีมูลค่าสูงมาก ซึ่งอาจเข้ามาเป็นม้ามืดในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ได้
โดยมีเหตุผลหลักอยู่ 4 ข้อที่เชื่อมโยงกัน คือ กีฬา ทำให้เกิดการแข่งขัน, เกิดผู้ชม,เกิดการซื้อขาย และ เกิดการท่องเที่ยว จะเห็นว่าเมื่อเกิดการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่งทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ย่อมทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องคำนึงต่อ คือ การกำหนดนโยบายและวางโครงสร้างกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า
“ไทยเราอุดมพร้อมไปด้วยทรัพยากรหลากหลาย ดังนั้น หากจะสร้างมูลค่าการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เป็นรายได้หลักของประเทศให้มีความยั่งยืน ก็จำเป็นจะต้องวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความได้เปรียบของประเทศ ที่มีทั้งภูมิประเทศ ทรัพยากรบุคคล วัฒนธรรม ด้วยการพัฒนากิจกรรมเชิงกีฬา ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ไทย อาทิ มวยไทย และอาจขยายไปถึงประเพณีท้องถิ่น เช่น แข่งเรือยาว และ มวยทะเล เป็นต้น รวมถึงการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาบูรณาการ จะช่วยกระจายรายได้สู่ภูมิภาคโดยตรง ก่อให้เกิดอาชีพ ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาหาร ของที่ระลึก และบริการต่างๆ ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งสามารถต่อยอดให้เกิดเป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศได้”
ส่วนสุดท้าย ที่ซีอีโอ เมืองไทยประกันภัย ได้เผยการดำเนินงานในปัจจุบันว่า “การทำธุรกิจที่ผ่านมา ต้องไม่มองเพียงแค่ผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น ธุรกิจจะยั่งยืนหากอยู่ในสังคมที่ยั่งยืน ทุกคนต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามแนวทาง ของโลกอย่าง Sustainable Development Goals (SDGs) ของ UN ซึ่งเราก็อยากจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม ภายใต้กรอบของความยั่งยืน BGC และ ESG